ค้นหาข้อมูลจากบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บทความที่น่าสนใจเรื่องการ "เทศนา"

เป็นเนื้อหาที่อยู่ในใจมาตลอด อยากบอกสมาชิกคริสตจักรให้รับรู้ ขอขอบคุณ ข่าวคริสตชน


*ข้อจำกัดของการเทศนา*

ทุกครั้งที่เราฟังคำเทศนา หรือเป็นผู้เทศนา เราควรถือว่านี่เป็นเวลาสำคัญ ที่พระเ้จ้ากำลังจะตรัสผ่านผู้เทศนาซึ่งก็ถือเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ผู้ฟังต้องฟังด้วยความตั้งใจและถ่อมใจพร้อมที่จะเชื่อฟัง และผู้เทศน์ก็ต้องเทศน์้ด้วยความถ่อมใจและยอมให้พระเจ้าตรัสผ่านอย่างแท้จริง

แต่ถึงกระนั้นเราก็ควรรู้เท่าทันเกี่ยวกับธรรมชาติของการเทศนาในบางแง่ เพื่อจะเห็นว่าโดยตัวธรรมชาติของการเทศนาเองก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการด้วย(นี่ยังไม่พูดถึงข้อจำกัดของตัวผู้เทศนาแต่ละท่านซึ่งก็ย่อมมีอีก มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป) การรู้ถึงข้อจำกัดของการเทศนา จะช่วยทั้งผู้เทศนาและผู้ฟังให้เกิดความระมัดระวัง ไม่เทศนาผิดๆ และไม่รับฟังไปผิดๆ ซึ่งก็จะก่อปัญหาให้แก่ทั้งตัวผู้เทศน์เอง แต่ที่แย่กว่าคือปัญหาที่จะเกิดแก่ผู้ฟังทั้งหลาย

ก่อนจะพูดถึงข้อจำกัดแต่ละข้อ ต้องขอบอกผลปลายทางล่วงหน้าเสียก่อนว่า ข้อจำกัดต่างๆ ตามธรรมชาติของการเทศนามีผลทำให้บ่อยครั้งที่การเทศนาจะไม่ได้ให้ความรู้ที่แท้จริง หรืออาจถึงกับให้ความรู้ที่ผิดพลาดได้เสียด้วยซ้ำ

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักวิชาการด้านนี้ด้วยในส่วนหนึ่งใคร่ขอนำเสนอข้อจำกัดของการเทศนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการด้านนี้ ดังต่อไปนี้

1. การเทศนามีข้อจำกัดเรื่องเวลา
ไม่ว่าจะพูดหัวข้ออะไรก็มักจะต้องพยายามทำให้จบภายใน 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ทำให้ยากที่จะอธิบายหัวข้อนั้นได้อย่างละเอียดครอบคลุมเพียงพอ จนอาจนำเสนอบางประเด็นผิวเผินเกินไปซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปผิดๆ ได้นอกเสียจากว่าจะมีการขยายเวลา และทำเป็นหลายๆ ตอน เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญ

2. การเทศนามีเป้าหมายหลักเพื่อการโน้มน้าวใจให้มีการตัดสินใจ
การนำเสนอข้อมูลก็จะเป็นแบบการสรุปข้อมูลรวบยอด ไม่ได้มุ่งการให้ความรู้ ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงในรายละเอียด ทุกแง่ทุกมุม หรือบอกที่มาที่ไปแสดงพัฒนาการเป็นขั้นๆ อีกทั้งการเทศนายังต้องเน้นให้คนตอบสนองด้วยการเชื่อฟัง เน้นให้เกิดความรู้สึกร่วม ไม่ใช่เน้นให้คิดวิเคราะห์จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่แตกฉาน

3. การเทศนาเป็นการพูดทางเดียว และพูดคนเดียว ไม่มีการถามตอบ
และไม่มีวิทยากรคนอื่นร่วมพูด ต่างจากการอภิปราย สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ เสริมได้ รวมทั้งโต้แย้งได้ หรือมองต่างมุมกันได้

4. การเทศนาเป็นการพูดต่อหน้าผู้ฟังแบบเผชิญหน้า
ทำให้ผู้เทศนามีแนวโน้มที่จะต้องเอาใจผู้ฟังเอาไว้ก่อน หรือสร้างความประทับใจต่อผู้ฟังเอาไว้ก่อน จนยากที่จะยึดความจริงที่ตนเชื่ออยู่อย่างสมบูรณ์ เพราะไม่อยากสร้างความขัดเคืองใจกัน รวมทั้งบางครั้งก็ต้องทำให้ผู้ฟังไม่หลับไว้ก่อน หรือต้องทำให้ผู้ฟังมีความหวังมีกำลังใจหรือสบายใจไว้ก่อนด้วย เป็นต้น ซึ่งนี่จะไม่เหมือนกับการสื่อสารบางแบบ เช่นการเขียน หรือการอัดเสียง ที่ผู้นำเสนอไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ฟังโดยตรง หรือแม้แต่ไม่ต้องเปิดเผยตัวจริง ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำเสนออะไรได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงใจใคร หรือเอาใจใคร

5. ยิ่งกว่านั้นอีกคือ เมื่อการเทศนาเป็นการพูดต่อหน้าผู้ฟัง
ผู้เทศน์ก็มักต้องประเมินว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มไหน เพื่อจะได้เทศนาให้ตรงใจกับผู้ฟังส่วนใหญ่ไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะการจะเทศนาให้ตอบสนองผู้ฟังทุกคนทุกกลุ่มได้อย่างจุใจเท่ากันหมดเป็นเรื่องยากมากจนถึงแทบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ หากผู้เทศนาเห็นว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้ฟังมีความเข้าใจเพียงผิวเผิน ผู้เทศนาก็มีแนวโน้มที่จะให้ข้อเท็จจริงที่ผิวเผินด้วยเช่นกัน

6. การเทศนาเป็นการพูดสด โอกาสนำเสนอผิดพลาดมีมาก
แม้ว่าอาจจะมีการเตรียมมาก็ตาม ในการนำเสนอในการประชุมหรือสัมนาที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะที่เป็นทางการ มักจะกำหนดให้ผู้พูดต้องเขียนมาอย่างละเอียดก่อน และบางครั้งถึงกับต้องอ่านตามที่เขียนมาเพื่อป้องกันการผิดพลาดในลักษณะที่เรียกว่า "กลอนพาไป" หรือ "ตื่นเต้นจนพูดผิด" หรือ "พูดแล้วมัน พูดเพลิน จนพูดเลยเถิด"

7. ในการเทศนาที่ผู้เทศน์เป็นผู้นำของคริสตจักรหรือองค์กร หรือเป็นบุคคลากรของคริสตจักรหรือองค์กร
เมื่อต้องเทศนากับคริสตจักรหรือองค์กรที่ตนทำงานอยู่ มักต้องคิดถึงผลประโยชน์ของตนที่มีอยู่กับคริสตจักรหรือองค์กร หรือต้องคิดเรื่องสายการบังคับบัญชา จนไม่ง่ายที่จะนำเสนอความจริงทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา หรืออาจพูดได้่ว่าการพูดในสถานการณ์ที่ตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนย่อมพูดความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ยาก

8. การเทศนามักกระทำในนามของพระเ้จ้า
ผู้เทศนามักฉวยโอกาสจากบทบาทนี้บอกว่าสิ่งที่เทศน์เป็นถ้อยคำที่มาจากพระเจ้าและได้รับการทรงนำจากพระเจ้า (ความจริงแล้วอาจจะมาจากพระเจ้าบางส่วน แต่ก็มีบางส่วนที่มาจากมนุษย์เองเติมเข้าไป โดยเฉพาะในส่วนอธิบายและประยุกต์ฺใช้) ซึ่งเท่ากับบอกว่าผู้ฟังต้องเชื่อถือและเชื่อฟังโดยปริยาย ไม่อาจตั้งข้อสงสัยหรือถกเถียงได้ และบางครั้งก็เลยเถิดไปถึงจุดที่ว่า ผู้เทศน์รู้สึกว่าตนเอง "เป็นเสียงพระเจ้า" จริงๆ ซึ่งหมายความว่า ผิดไม่ได้ (inerrant) และวิจารณ์ไม่ได้ (untouchable) ยิ่งถ้าผู้คนยกย่องให้เกียรติมากๆ
ด้วยแล้ว ผู้เทศน์ก็จะยิ่งหลงตนจนเสียคน ลืมข้อเท็จจริง กลายเป็นพระเจ้าไปเลย แล้วถ้าใครไปวิจารณ์ทักท้วงก็จะตอบโต้เขาด้วยข้อหา "กบฏ" (betrayer, treason) หรือ "ลบหลู่พระเจ้า (blasphemy) ไปเลย

9. การเทศนาถูกมองว่าเป็นการกระทำในนามพระเจ้า
ผู้เทศน์จึงมักต้องแสดงความมั่นใจและความกล้าหาญในสิ่งที่ตนเองพูดอยู่เสมอ แม้เรื่องนั้นตัวเองจะรู้จริงรู้ไม่จริงอย่างไรก็ต้องแสดงอาการมั่นใจในการเทศนา ต้องเทศน์อย่างกล้าหาญและมั่นใจ เพื่อใ้ห้สมกับเป็นเสียงจากพระเ้จ้า ผลก็คือ ถ้าผู้เทศนาเทศน์ผิดๆ ผู้ฟังก็ยังคงรู้สึกเชื่อมั่นด้วยความเข้าใจผิดว่านี่เป็นเสียงจากพระเจ้า

10. ผู้เทศนาที่ต้องเทศน์อยู่เสมอ เทศน์ทุกสัปดาห์
ก็ย่อมต้องเทศน์สารพัดเรื่องสารพัดหัวข้อ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ย่อมไม่มีใครจะรู้จริงแตกฉานไปเสียทุกเรื่องทุกหัวข้อ ผู้เทศนาที่เทศน์เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจโดยมีนักธุรกิจฟังอยู่ด้วยก็อาจไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนพูดบางอย่างอาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่นักธุรกิจต่างทราบกันดีก็ได้ ผู้เทศนาที่เทศน์เรื่ืองเกี่ยวกับวิชาการบางด้าน นักวิชาการด้านนั้นก็อาจไม่เห็นด้วยก็ได้

11. บุคคลิกและลีลาของผู้เทศนาีมักมีผลต่อความรู้สึกเชื่อถือของผู้ฟังมากกว่าความถูกต้องของเนื้อหา
โดยหลักจิตวิทยาการพูด ทำให้เราทราบความจริงเรื่องหนึ่งคือ คนส่วนใหญ่เชื่อถือผู้พูดจากความประทับใจในบุคคลิกของผู้พูด มากกว่าที่จะคิดถึงความน่าเชื่อถือของเนื้อหา