ค้นหาข้อมูลจากบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ทำไม? ยูดาสอิสคาริโอท จึงทรยศพระเยซู

ทำไม? ยูดาสอิสคาริโอท  จึงทรยศพระเยซู 

  ยูดาส (Judas) เมื่อคริสเตียนคนใดได้ยินชื่อนี้ก็เป็นที่รู้จักกันว่าคือ “ผู้ทรยศต่อพระเยซูด้วยการจูบ”  ชื่อนี้เคยเป็นชื่อยอดฮิตในสมัยก่อนคือ “ยูดา (Judah)”  เป็นชื่อ 1 ใน 12 บุตรชายของยาโคบ  และอีกผู้หนึ่งคือ "ยูดาส  มัคคาเบียส (Judas Maccabaeus)" ผู้กู้เอกราชในศตวรรษที่ 12  ก่อนคริสตกาล  ยูดาสจึงเป็นชื่อของวีรบุรุษแห่งอิสราเอล  ดังนั้นจึงมีคนนิยมตั้งชื่อนี้มาก  แต่หลังจากที่พระเยซูถูกตรึงที่กางเขนเป็นต้นมา  ชื่อนี้ไม่มีใครนิยมตั้งชื่อลูกหลานของตนอีกต่อไปเลย  นอกจากวงดนตรีร๊อควงหนึ่งในต่างประเทศ  ได้เอาชื่อนี้ไปตั้งชื่อวงดนตรีของตัวเองคือ วง "ยูดาส พรีสท์ (Judas Priest)"  เข้าใจว่าอยากโปรโมทวงเลยใช้ชื่อที่มันตรงข้ามกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่จะได้เป็นที่น่าสนใจ  (ผู้เขียนเคยชอบฟังเพลงของวงนี้เหมือนกันในสมัยเป็นวัยรุ่นตอนนั้นยังไม่ได้เชื่อในพระเจ้า)  พอพูดถึงวงนี้ก็ทำให้นึกถึงอีกวงหนึ่งคือ “แบล็ค  ซับบาช (Black Sabbath)”  วงนี้มีชื่อเสียงในเมืองไทยเหมือนกันชื่อนี้แปลว่า “สะบาโตสีดำ”  มีอีกมากในเมืองนอกที่ทำอะไรทำนองนี้  แม้ในบ้านเรายังมีเทปเพลงของพวก “ลัทธิซาตาน” ออกมาขายเลยอันนี้ยังไม่เคยฟังไว้จะไปขอยืมพวกที่ฟังแล้วจะมาเล่าสู่กันฟังในคราวต่อไป

ยูดาสอิสคาริโอท  เขาเป็นใครมาจากไหน
ยูดาส  เป็นชาวเมืองเคอริโอท (Kerioth) ซึ่งอยู่ในทางทิศใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม  บางทีพ่อแม่ของเขาอาจจะเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา  จึงตั้งชื่อบุตรของตนตามชื่อที่มีความหมาย และประวัติที่ดี  เขาคงได้รับการอบรมจากครอบครัวที่ดี  เมื่อเติบโตขึ้นใคร ๆ จึงเรียกเขาว่า "ยูดาส อิสคาริโอท (Judas Iscariot)" เพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองของเขา  เช่นเดียวกับพระเยซูที่ถูกเรียกต่อท้ายว่า “ชาวนาซาเร็ธ” ก่อนที่ยูดาสจะพบกับพระเยซู


เขาไม่เคยมีเบื้องหลังอันด่างพร้อยเหมือนมัทธิว (มธ.9:9-13)  เป็นคนเก็บภาษีมีแต่คนเกลียดชัง
ไม่ใจร้อนขี้โมโหเหมือนยากอบเมื่อเห็นชาวบ้านไม่รับรองพระองค์ “พระองค์เจ้าข้า  พระองค์พอพระทัยจะให้ข้าพระองค์ขอไฟลงมาจากสวรรค์เผาผลาญเขาเสีย....” (ลก.9:53-54)
ไม่ใจแคบขี้อิจฉาเหมือนยอห์นเมื่อเห็นคนอื่นขับผีออกในนามพระเยซูแต่ตัวเองทำไม่ได้ (ลก. 9:49-50)
ไม่พูดพล่อย ๆ และเรียกร้องความสนใจเหมือนเปโตร “..ข้าพระองค์พร้อมแล้วที่จะไปกับพระองค์ ถึงจะติดคุก หรือถึงความตายก็ดี” (ลก.22:33)
ไม่พูดโอ้อวดเหมือนโธมัส  “พวกเราไปกับพระองค์เถิด เพื่อจะได้ตายด้วยกันกับพระองค์” (ยน.11:16)
ไม่ขี้สงสัยเหมือนฟิลิป  “ขอสำแดงพระบิดาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็น” (ยน.14:8)
ไม่ชอบพูดเยาะเย้ยดูถูกคนอื่นเหมือน นาธานาเอล  “สิ่งดีอันใดจะมาจากนาซาเรธได้หรือ” (ยน. 1:46)
(นี่ถ้าจะว่าไปแล้วทุกคนก็ไม่มีดีเหลืออยู่เลย  แต่โดยพระคุณพระเจ้าการไปสวรรค์นั้นไม่ได้อาศัยความดีของใครคนใดคนหนึ่งแต่อาศัยโดยความเชื่อในพระเยซูเท่านั้น)

ยูดาสเป็นบุคคลที่มีนิสัยดีมาแต่เดิม  เป็นผู้นิยมชมชอบพระเยซูมาตั้งแต่เริ่มแรก  มีบุคลิกลักษณะว่าจะเป็นคนสำคัญต่อไปข้างหน้า  และถูกเลือกเป็น 1 ใน 12 สาวกที่พระเยซูทรงเลือก  เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำ เขาได้รับหน้าที่เป็นเหรัญญิกดูแลการเงินของกลุ่ม  การที่หมู่คณะไว้ใจในเรื่องนี้ แสดงว่าเขาต้องเป็นคนสัตย์ซื่อไว้ใจได้  รอบคอบ  มีความสามารถ และสติปัญญา  (ถ้าจะพูดคุยถึงเรื่อเงิน ๆ ทอง ๆ มัทธิวน่าจะได้รับตำแหน่งนี้เพราะเขาถนัดด้านนี้ แต่ท่านมีชื่อเสียงไม่ดีมาก่อน)
นี่ถ้ายูดาสไม่ฆ่าตัวตาย และกลับใจใหม่  เราคงจะเรียกยูดาสว่าอาจารย์เป็นแน่แท้  เพราะว่าเขาจัดได้ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างได้ดีทีเดียว

แล้วทำไมยูดาสถึงอายัดพระเยซู
มีสาเหตุอันใดที่ทำให้ยูดาอายัดพระเยซู  มัทธิวและมาระโกกล่าวว่า เพราะความโลภเป็นเหตุ “ท่านทั้งหลายจะให้ข้าพเจ้าเท่าไหร่...” (มธ.26:15)  “เขา...สัญญาว่าจะให้เงินแก่ยูดาส”    (มก.14:11)  ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เลย  ถ้ายูดาสเป็นคนโลภจริง เหตุใดจึงเอาเงินแค่สามสิบเหรียญซึ่งเป็นเงินไม่มาก  แถมภายหลังยังเอาเงินไปคืนอีก  น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น  ส่วนลูกาบอกว่า “ซาตานเข้าดลใจยูดาส” (ลก.21:3)  ยอห์นก้กล่าวเช่นเดียวกัน “..ซาตานก็เข้าสิงในใจเขา” (ยน.13:27) ในสมัยก่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เข้าใจยากก็โทษมารไว้ก่อน  คนที่มีความประพฤติผิดปกติก็ว่ามีผีสิง (แม้แต่ในปัจจุบันในประเทศไทยแถวภาคอีสานก็มักจะมีเรื่องเช่นนี้อยู่บ่อย ๆ เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์คือว่ามีผีปอบเข้าสิงบ้างเป็นต้น) ในข้อนี้เราต้องยอมรับว่าเรายังไม่รู้แน่ที่ผู้เขียนพระกิตติคุณเขียนไว้ว่า  “ซาตานดลใจ” มีความหมายว่าอย่างไร  เราทราบกันดีว่าพระเยซูรักษาคนที่ป่วยประเภทนี้มาอย่างมากมาย  เหตุใดพระเยซูไม่ทรงขับผีออกจากยูดาส  พระองค์ไม่ทรงสงสารสาวกคนนี้หรือ

มีนักวิชาการพระคัมภีร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกหลายประการด้วยกันคือ

ขวดหินอ่อนที่ใช้ใส่น้ำหอมนารดา
1. ยูดาสอาจไม่พอใจพระเยซูที่มาต่อว่าในเรื่องที่มีหญิงคนหนึ่ง  ซึ่งนำเอาน้ำมันหอมมาชโลมศรีษะแด่พระเยซู  ยูดาสกล่าวว่า “เหตุใด  จึงทำให้ของนี้เสียเปล่า  น้ำมันนั้นถ้าขายก็ได้เงินมาก  แล้วจะแจกให้คนจนก็ได้”  พระเยซูทรงทราบจึงตรัสแก่เขาว่า  “กวนใจหญิงนี้ทำไม  เขาได้กระทำดีแก่เรา...” (มธ.26:8-10) ยูดาสอาจรู้สึกหน้าแตก  พระเยซูที่เขารัก และนับถือไม่น่าจะมาว่าเขาอย่างนี้ต่อหน้าคนอื่นเลย  ทั้ง ๆ ที่เขาหวังดีแท้ ๆ กลับโดนต่อว่า  เขาอาจน้อยใจเลยอยากประชด  เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมายูดาสไม่เคยถูกต่อว่าเลย

2. อาจเป็นเพราะยูดาสอยากให้พระเยซูพิสูจน์พระองค์เองต่อหน้าคนทั้งปวงให้รู้กันไปเลยว่าพระองค์เป็นใคร  ซึ่งยูดาสเห็นการอัศจรรย์มามากมายหลายครั้ง  แต่เมื่อพระองค์ถูกจับกลับไม่โต้ตอบอะไร  ซ้ำยังถูกพิพากษาปรับโทษถึงตาย  ยูดาสคงรู้สำนึกผิดที่มีส่วนทำให้คนบริสุทธิ์อย่างพระเยซูถูกปรับโทษถึงชีวิตก็เลยนำเงินมาคืน (มธ.27:3-10)  แต่พวกมหาปุโรหิตและพวกผู้ใหญ่ไม่รับรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น  ยูดาสจึงทิ้งเงินไว้ในพระวิหาร  แล้วไปผูกคอตาย เพื่อแสดงความรับผิดชอบ  ชีวิตแทนชีวิต เพราะรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง

3. ยูดาสอาจต้องการผลักดันก่อให้เกิดการปฏิวัติ (เช่นเดียวกับในอดีตที่ยูดาส มัคคาเบียสได้กระทำไว้เป็นผลสำเร็จ) เพราะช่วงเวลานั้นอิสราเอลตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโรมัน  ถ้ามีการจับพระเยซูซึ่งดุจดังเป็นผู้นำ  ต้องมีการลุกหือขึ้นต่อสู้เป็นแน่ ยูดาส  คงจะสังเกตเห็นว่าคราวที่พระเยซูเสด็จเข้าเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตทรงลูกลาเข้ามา  และประชาชนก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีดุจดังต้อนรับกษัตริย์ของพวกเขาเหมือนคราวในอดีตที่ซาโลมอนทรงล่อพระที่นั่งรับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ (1 พกษ.1:38-40) ซึ่งในจำนนสาวกของพระเยซูนั้นก็มีพวกที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองรวมอยู่ด้วยเหมือนกัน  เช่น ซีโมน พรรคชาตินิยม  ในเรื่องนี้สร้างความหวาดวิตกให้แก่พวกมหาปุโรหิต และพวกผู้ใหญ่เช่นกัน “ถ้าเราปล่อยเขาไว้อย่างนี้  คนทั้งปวงจะเชื่อเขา  แล้วพวกโรมก็จะมาทำลายพระวิหาร และชาติของเรา” (ยน.11:45) แต่คายาฟาส กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้อะไรเสียเลย  และไม่รู้ว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย  ถ้าจะให้คนตายเสียคนหนึ่งแทนที่จะให้คนทั้งชาติต้องพินาศ” (ยน.11:50)

4. พระเยซูรู้ตัวก่อนอยู่แล้วว่าจะมีคนทรยศ  โดยคำพยากรณ์จากพระคัมภีร์เดิม ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ที่เป็น 1 ใน 12 สาวกซึ่งไม่ได้เจาะจงว่า คือ “ยูดาส”  “แม้ว่าเพื่อนในอกของข้าพระองค์ ผู้ซึ่งข้าพระองค์ไว้วางใจ  ผู้รับประทานอาหารของข้าพระองค์  ก็ยกซ่นเท้าใส่ข้าพระองค์”  (สดุดี 41:9)  และสังเกตได้จากคำอธิษฐานของพระองค์ “เมื่อข้าพระองค์ยังอยู่กับคนเหล่านั้น  ข้าพระองค์ก็ได้พิทักษ์รักษาพวกเขา  ผู้ซึ่งพระองค์ได้ประทานแก่ข้าพระองค์ และข้าพระองค์ได้ปกป้องเขาไว้ และไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเสียไป  นอกจากลูกของความพินาศ  เพื่อให้เป็นจริงตามข้อพระธรรม” (ยน.17:12)

บุคลิกลักษณะของมนุษย์สลับซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายได้  เราจึงไม่อาจอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนได้ว่า เหตุใดยูดาสจึงทรยศต่อพระเยซู แต่ก็พอจะสรุปได้ว่ายูดาสปล่อยให้อำนาจฝ่ายต่ำเข้าครอบงำมากเกินไป  ยูดาสได้มาพบบุคคลผู้สูงสุดแล้วเช่นนี้แต่ท่านยังไม่ยอมให้บุคคลสูงสุดนั้นครอบครองจิตใจท่าน  บางครั้งก็คิดเองเออเองไปก่อนพระเจ้าอีก นี่ถ้ายูดาสกลับใจดังเช่นเปโตรก็คงได้รับการอภัยโทษเช่นกัน (แม้แต่เปาโลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ข่มเหงคริสเตียนก็ยังกลับใจได้)

เรายังคงมองเห็นความผิดพลาดของยูดาสไม่ถนัดนัก  แต่ที่ชัด ๆ ก็คือ เขาไม่กลับใจนั้นเอง  พระเยซูทรงยกโทษให้โอกาสแก่ยูดาสทุกขณะที่สามารถทำได้  พระองค์ทักยูดาสในคืนวันที่เขามาอายัดพระองค์ว่า “สหายเอ๋ย..” (มธ.26:50) พระองค์ทรงยกโทษให้ท่านทั้งหลายได้เช่นเดียวกัน  มนุษย์เรายังต้องการอะไรมากไปกว่านี้อีกเล่า...

บทความจากหนังสือ "เรียนรู้อดีต ลิขิตอนาคต" เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1995