ค้นหาข้อมูลจากบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2559

อาณาจักรอียิปต์ กับคัมภีร์ไบเบิ้ล

บทความจากหนังสือ "เรียนรู้อดีต ลิขิตอนาคต"
  ประวัติศาสตร์โลกถูกเปิดเผยออกเรื่อย ๆ จนทำให้เราสามารถเรียนรู้ถึงอดีตกาลได้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับพื้นพิภพแห่งนี้  สำหรับประเทศไทยเรานั้นถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์แล้วพบว่าในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พ.ศ.1820-1860 (ค.ศ.1277-1317) กำหนดอักษรไทยในปี พ.ศ.1826 (ค.ศ.1283) ตรงกับประวัติศาสตร์ยุโรปที่เกิดสงครามครูเสด (ค.ศ.1238-1378) แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องราวของอาณาจักรอียิปต์กับประเทศไทยนั้น  เรายังไม่รู้เลยว่าพวกคนไทยนั้นอยู่ที่ไหน  แต่พอจะทราบได้ว่าคนไทยก็รู้จักอียิปต์บ้างเหมือนกัน  จากบทกลอนบทหนึ่งของท่านสุนทรภู่  กวีเอกของไทยกล่าวเอาไว้ว่า “ไอยคุปโตโกสัมพีระดีระดิ่น...”

ในปี 1966 ได้มีการตีพิมพ์พระคัมภีร์เป็นภาษาไทย (ซึ่งแปลออกมาจากภาษาเดิมเป็นของหอพระคริสต์ธรรมประเทศไทย (Thailand Bible House) พิมพ์ที่ฮ่องกง)  ใช้ชื่อว่า “พระคริสตธรรมเดิม”  คือ มีหนังสือในเล่มอยู่ 39 เรื่อง (พระคัมภีร์ปัจจุบันมี 66 เรื่องรวมทั้งฉบับเดิม 39 เรื่องและใหม่ 27 เรื่อง) ตั้งแต่ปฐมกาล-มาลาคี  ซึ่งในภาษาในฉบับเดิมนี้เรียกหนังสือ ปฐมกาลว่า “เยเนซิส” และในหนังสือเล่มนี้เรียกอียิปต์ว่า “อายฆุบโต” (เยเนซิส 12:10)

อียิปต์  ไอยคุปโต หรือ อายฆุบโต  ได้ชื่อว่าดินแดนแห่งความเร้นลับ  และไสยศาสตร์ที่แตกต่างจากอาณาจักรอื่น ๆ นับตั้งแต่อดีตกาลมา  เป็นอาณาจักรที่ยึดมั้นในลัทธิความเชื่อ  และขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองมากที่สุด และมีอิทธิพลต่ออารยธรรมของชาติอื่น ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางประติมากรรม  สถาปัตยกรรม  การชลประทาน  และการแพทย์ ฯลฯ

เรื่องราวของอียิปต์เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อนักปราฃญ์กรีกโบราณ คือ “เฮโรโดตุส  บิดาแห่งประวัติศาสตร์” ได้ค้นพบดินแดนแห่งนี้ราวๆ 500 ปี ก่อนคริสตกาล  กล่าวกันว่าเฮโรโดตุสเคยเดินทางไปอียิปต์ประมาณ 450 ปีก่อนคริสตกาล  และได้พบกับนักบวชชั้นสูงที่เชี่ยวชาญในการอ่านภาษาภาพโบราณที่แกะสลักจารึกไว้ตามผนังวิหาร  และสุสานต่างๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเรื่องราวของอาณาจักรอียิปต์จึงถูกเปิดเผยออกสู่สายตาชาวโลก ... ผมขอวกกลับมายังเรื่องราวของโมเสสตามที่ได้สัญญาไว้ว่าจะมานำเสนอต่อท่านผู้อ่านว่าทำไมโมสสต้องให้อาโรนมาเป็นเพื่อน  แต่ก่อนอื่นขอเท้าความก่อนว่าคนฮีบรูมาอยูอียิปต์ได้อย่างไร

ประวัติย่อเรื่องโยเซฟ
          เรื่องราวที่เกิดขึ้นนับสืบเนื่องมาจากเกิดการกันดารอาหารเป็นอย่างมากทั่วแผ่นดิน  ซึ่งก่อนหน้านั้นโยเซฟบุตรชายของยาโคบถูกพวกพี่ชายขายเป็นทาสเพราะความอิจฉาน้อง และถูกนำมาที่อียิปต์  ต่อมาภายหลังได้เป็นใหญ่เป็นโตในอียิปต์ควบคุมการสะสมเสบียง  เพราะสามารถทำนายความฝันของฟาโรห์ได้ (ปฐก.41:1-57) “การกันดารอาหารแผ่ไปทั่วแผ่นดิน  โยเซฟก็เปิดฉางออกขายข้าวแก่ชาวอียิปต์  เพราะการกันดารอาหารในแผ่นดินรุนแรงมาก  ยิ่งกว่านั้นทั้งโลกก็มายังประเทศอียิปต์หาโยเซฟเพื่อซื้อข้าว  เพราะกันดารอาหารร้ายแรงทั่วโลก” (ปฐก.41:56-57) และโดยเหตุนี้เองพี่น้องของโยเซพก้มาซื้ออาหารด้วยเช่นกัน  ภายหลังโยเซฟสำแดงตัวให้พี่น้องรู้ว่าตนเป็นใคร (ปฐก.45:1-28) ทำให้ยาโคบกับครอบครัวเดินทางมายังอียิปต์ (ปฐก.46:1-7)

การขาดแคลนอาหารดำเนินไปหลายปีขนาดประชาชนทั่วแผ่นดินอียิปต์ทั้งหมด  ต้องนำสัตว์มาแลกอาหาร  สุดท้ายต้องขายไร่ขายนา  ขายตัวเองเป็นทาส  “ส่วนประชาชนอียิปต์นั้นโยเซฟให้เป็นทาสทั่วบ้านทั่วเมือง”  (ปฐก.47:21)  โยเซฟจบชีวิตลงเมื่อท่านอายุได้ 110 ปี (ปฐก.50:26)

เหตุผลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของโยเซฟที่ได้เป็นใหญ่
          ช่วงเวลาประมาณ 1700 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรอียิปต์อ่อนแอลงจนทำให้พวก “ฮิกโซส (Hyksos)” (ฮิกโซสเป็นภาษาอียิปต์ใช้ทับศัพท์แปลว่า “เจ้านายต่างชาติ”) บุกยึดเมืองได้ ทั้งๆ ที่พวกนี้เป็นชาวเผ่าร่อนเร่  ป่าเถื่อนและด้อยพัฒนากว่า  ในยุคนี้ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมากนัก  ทั้งๆที่ชาวอียิปต์มักจะเป็นชนชาติที่ช่างเขียนช่างจดช่างสลัก  นักโบราณคดีพยายามหาข้อเท็จจริงจึงพบว่าอาณาจักรอียิปต์ในยุคนี้ถูกปกครองโดยกษัตริย์ต่างแดน  คือราชวงศ์ฮิกโซสนั้นเอง  ปกครองถึง 6 รัชกาล  ถึงแม้ว่าพวกฮิกโซสไม่ใช่ชาวอียิปต์ แต่พวกเขาได้ปกครองอียิปต์ตามแบบเดิม  และประชาชนชาวอียิปต์ก็ยินยอม  แต่สาเหตุที่ไม่มีงานศิลปะออกมาเลยเพราะพวกฮิกโซสเป็นเพียงชาติที่เร่ร่อนในทะเลทราย  ไม่มีศิลปะอารยธรรมเป็นของตน  เมื่อมายึดครองอียิปต์ก็มัวหลงเพลิดเพลินอยู่กับความงามของมหานครจึงไม่มีความคิดจะสร้างสรรค์อะไร

  การที่โยเซฟ อดีตทาสชาวฮีบรูได้รับอำนาจสูงสุดตำแหน่งรองจากฟาโรห์นั้น  นักโบราณคดีพากันสงสัยกันใหญ่ว่า  เหตุใดฟาโรห์จึงยอมให้ทาสเป็นใหญ่ เพราะเท่าที่ผ่านมาชาวอียิปต์นั้นถือว่าตนเจริญสูงสุดในโลก  และเหยียดหยามชนชาติอื่นต่ำกว่าตนไปหมด  ในที่สุดก็สรุปได้ว่าเพราะฟาโรห์ชาวฮิกโซสก้เป็นชาวต่างชาติเหมือนกัน  และเห็นความฉลาดของโยเซฟดังในหนังสือปฐมกาลบทที่ 41:39 ฟาโรห์จึงตรัสกับโยเซฟว่า “เพราะพระเจ้าได้ทรงสำแดงเรื่องนี้ทั้งสิ้นแก่ท่าน จะมีผู้ใดที่มีความคิดดี  และมีปัญญาเหมือนท่านก็ไม่ได้  เราจะตั้งท่านไว้ให้ดูแลราชสำนัก  และให้ประชาชนทั้งหลายของเราปฏิบัติตามท่าน...”  และโยเซฟได้ชื่อใหม่อีกว่า “ศาเฟนาท-ปาเนอาห์”  และได้ภรรยาชาวอียิปต์ชื่อ “อาเสนัท” บุตรของโปทิเฟรา (ปฐก.41:45) มีบุตร 2 คนชื่อ “มนัสเสห์” และ “เอฟราอิม” (ปฐก.41:51-52)

  หลายร้อยปีผ่านไปจนมาถึงสมัยของฟาโรห์องค์ใหม่ที่ไม่รู้จักเรื่องราวของโยเซฟ (ราชวงศ์ฮิกโซสถูกยึดอำนาจคืนโดย  อาโมซีสที่ 1 แห่งธีบิส)  เห็นว่าคนฮีบรูชักจะมีมากเกินไปแล้วเกรงว่าจะยากแก่การปกครองจึงคิดจะกำจัดจึงทำการบีบบังคับต่างๆ นานาแต่คนฮีบรูก็มากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคำสั่งว่า “บุตรชายฮีบรูทุกคนที่เกิดมาให้เอาไปทิ้งเสียในแม่น้ำไนล์...” (อพย.1:22) เข้าใจว่าเป็นการบูชาแก่เทพ  และเทวีต่างๆ ของอียิปต์ที่ปกป้องแม่น้ำไนล์ด้วย

กำเนิดโมเสส (อพย.1:1-10)
“ยังมีชายเผ่าเลวีคนหนึ่ง ได้หญิงสาวคนเลวีมาเป็นภรรยา  หญิงนั้นตั้งครรภ์คลอดบุตรชาย  เมื่อนางเห็นบุตรน่ารักจึงซ่อนตัวไว้ถึงสามเดือน...” (ข้อ 1) มาถึงตอนสำคัญของเรื่องแล้ว  ด้วยความรักของนางโยเคเบดผู้เป็นมารดามิอาจจะให้บุตรของตนเสียชีวิตได้  ครั้นจะซ่อนต่อไปอีก เรื่องก็จะแดงออกมา  จึงเอาตระกร้าสานด้วยกก  ยาดวยยางมะตอย และชัน เอาทารกใส่ในระกร้าแล้วเอาทารกไปวางไว้ที่กอปรือริมแม่น้ำ  แล้วให้มีเรียมพี่สาวไปคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น  ผลปรากฏว่ามีพระราชธิดาของฟาโรห์ลงไปทรงน้ำที่แม่น้ำพระนางเห็นตระกร้าจึงให้สาวใช้ไปนำมาเปิดตระกร้าเห็นเด็กกำลังร้องไห้  มีเรียมเห็นได้ทีจึงโผล่พรวดเข้าไป และทูลว่า "จะให้หม่อมฉันไปหานางนมชาวฮีบรูมาเลี้ยงทารกนี้ให้นางไหม” (ข้อ 7) เป็นอันว่าก็รอดตายโดยความกล้าหาญของมีเรียมพี่สาวที่กล้ามาพูดกับราชธิดาของฟาโรห์แถมนางโยเคเบดยังได้เลี้ยงลูกตัวเอง และยังได้ค่าจ้างเลี้ยงดูอีกด้วย

ดังนั้น อับราม และนางโยเคเบดได้บุตรกลับคืนมาโดยไม่ต้องกลัวอีกแล้ว  พวกทหารคงไม่กล้ามายุ่งกับเด็กที่ราชธิดาของฟาโรห์รับไว้ให้เป็นพระราชบุตรบุญธรรมของพระนางเป็นแน่  เขาทั้งสองคงจะขอบคุณพระเยโฮวา  สำหรับวิถีทางอันอัศจรรย์ที่ทรงปกป้องเด็กเอาไว้

จากวันกลายเป็นเดือนที่เลื่อนผ่านไป  จากทารกน้อยสู่การเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความสุข  ความอบอุ่นของครอบครัว  เขาได้ปลูกฝังเด็กน้อยให้ได้รู้ถึงความเชื่อศรัทธาในพระเจ้าและพระราชกิจอันใหญ่ยิ่งของพระองค์  เรียนรู้ถึงการนมัสการพระเยโฮวาซึ่งเป็นพระเจ้าของอับราฮัม  อิสอัค  และยาโคบ

สู่พระราชวังในฐานะเจ้าชาย
“เมื่อทารกเติบใหญ่ขึ้นแล้ว  นางก้พามาถวายพระราชธิดาของฟาโรห์  พระนางก็รับไว้เป็นพระราชบุตรของพระนาง ประทานชื่อว่า “โมเสส” ตรัสว่า “เพราะเราได้ฉุดขึ้นมาจากน้ำ” (อพย.2:10)

พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าพ่อแม่ของโมเสสนำเขามาถวายให้พระราชธิดาตอนอายุเท่าไหร่  แต่ก็มีบางตำราตั้งข้อสังเกตไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงอายุประมาณ 4-5 ขวบ เด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 3 ขวบนั้นเป็นวัยที่สามารถรับรู้  มีระบบย่อยข่าวสารขั้นพื้นฐานซึ่งสำคัญมาก เนื่องจากเด็กได้รับการกระตุ้นจากภายนอก  ส่วนในเรื่องความนึกคิด  ความมุ่งมั่น  ความคิดสร้างสรรค์  ความเข้าใจ อารมณ์  ซึ่งเป็นเรื่องระดับสูงจะถูกสร้างหลังจากอายุ 3 ขวบ กล่าวคือ เป็นส่วนที่ว่าจะเอาส่วนที่ถูกสร้างมาก่อนอายุ 3 ขวบ ไปใช้อย่างไร  จากพระคัมภีร์ใหม่ในหนังสือฮีบรูบทที่ 11 ข้อ 24 กล่าวว่า “เพราะความเชื่อ  เมื่อโมเสสโตแล้วท่านไม่ยอมให้ใครเรียกท่านว่าเป็นบุตรของธิดากษัตริย์ฟาโรห์”  นั่นแสดงให้เห็นว่าโมเสสถูกปลูกฝังมาอย่างดีจากพ่อแม่ของเขาในเรื่องชาติกำเนิดของตน

ตั้งแต่โมเสสเข้ามาอยู่ในพระราชวังในฐานะพระราชบุตร  เขาก็ได้รับการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การเขียน การอ่านจารึกโบราณ  ภาพเขียนแห่งอียิปต์ แม้แต่ความลึกลับแห่งศาสนาอียิปต์  การบวงสรวงในวิหาร  (อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้โมเสสมีความสามารถในการเขียนพระคัมภีร์เล่มแรก  หนังสือปฐมกาลจากตำนานโบราณที่ได้เรียนรู้มา  และการดลใจจากพระเจ้า  โมเสสได้เขียนหนังสือเล่มอื่น ๆ อีก 4 เล่ม  คือ อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี เฉลยธรรมบัญญัติ)  เรียกได้ว่าเรียนรู้กันแบบครบหลักสูตรสมฐานะเจ้าชายแห่งอียิปต์ พระราชบุตรแห่งธิดาฟาโรห์  จนเขาเติบโตขึ้นเป็นชายหนุ่มรูปงามเพียบพร้อมไปด้วยความรอบรู้  ส่วนเรื่องราวของโมเสสตอนที่หนีไปมีเดียนนั้นเกิดขึ้น เพราะเขาได้ฆ่าคนอียิปต์ที่ไปตีคนฮีบรู  อีกวันต่อมาคนฮีบรูตีกันเอง  โมเสสไปห้าม  กลับถูกต่อว่า  “ใครแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้านายและเป็นตุลาการปกครองข้าพเจ้า  ท่านตั้งใจจะฆ่าข้าพเจ้าเหมือนกับที่ได้ฆ่าคนอียิปต์คนนั้นหรือ” (อพย.2:14) โมเสสได้ฟังแล้วก็กลัว  จึงหนีไปอยู่มีเดียนก็ได้ภรรยา  และมีบุตรชาย เวลาผ่านล่วงเลยไป จนฟาโรห์สิ้นพระชนม์....

ทรงเรียกโมเสส (อพย.3)
โมเสสมาอยู่มีเดียนหลายสิบปี  จากเจ้าชายกลับกลายมาเป็นคนเลี้ยงแกะ  จากคนที่มีความรู้เก่งกล้าสามารถกลับมาเป็นคนเงียบขรึม  และไม่ค่อยพูดจากับใคร  เพราะอยู่แต่กับแกะ  จนพระเจ้าทรงเรียกโมเสส  ให้เขาเห็นพุ่มไม้เป็นเปลวไฟโดยไม่ไหม้พระเจ้าต้องการใช้โมเสสให้ไปนำคนอิสราเอลมายังดินแดนแห่งพันธสัญญา  เพราะเสียงร้องของคนอิสราเอลจากการโดนกดขี่ดังไปถึงพระเจ้า  ฝ่ายโมเสสปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า  จนพระเจ้าต้องสำแดงให้โมเสสเห็นฤทธิ์เดชแห่งพระเจ้า  โดยให้ไม้เท้าของโมเสสกลายเป็นงู  ทำให้มือเป็นโรคเรื้อน  แต่โมเสสปฏิเสธอีกว่า “ข้าแต่พระเจ้า  ข้าพระองค์มิใช่เป็นคนช่างพูด ทั้งในกาลก่อน  และตั้งแต่เวลาที่พระองค์ตรัสกับผู้รับใช้ของพระองค์  ข้าพระองค์เป็นคนพูดไม่คล่องแคล่ว” (อพย.4:10) บัดนี้โมเสสคนเก่งในอดีตฆ่าคนอียิปต์ในชั่วพริบตา  เก่งกล้าเชิงยุทธ  และความรู้กลับกลายเป็นคนพูดไม่คล่องแคล่วขาดความมั่นใจในตนเองไปเสียแล้ว พระเจ้าจึงตรัสว่า “...ไปเถิด  เราจะอยู่ที่ปากของเจ้า และจะสอนคำซึ่งควรจะพูด”  แต่โมเสสกลับทูลว่า “ข้าแต่พระเจ้าขอทรงโปรดใช้ผู้อื่นไปเถิดพระเจ้าข้า” พระเจ้าทรงกริ้วโมเสสจึงตรัสว่า “เจ้ามีพี่ชายคืออาโรนคนเลวีมิใช่หรือ เรารู้แล้วว่าเขาเป็นคนพูดเก่ง ..เขาจะเป็นปากแทนเจ้า...” (อพย.4:11-17)

เป็นอันว่าโมเสสยอมทำตามพระบัญชาของพระเจ้า  เพราะมีอาโรนไปด้วยนี่เอง  เหตุเพราะยังกลัวๆ นั่นเอง  เลยต้องการมีเพื่อนไปด้ย  จากตารางฤทธานุภาพ 11 ประการของพระเจ้าในฉบับที่แล้ว  ทำให้เราทราบว่าในฤทาธานุภาพครั้งที่ 1-4 นั้น อาโรนเป็นคนที่กระทำการของพระเจ้าทั้งสิ้น  ครั้งที่ 5-6 พระเจ้าดลบันดาลเอง ครั้งที่ 7-10 สังเกตได้ว่าความมั่นใจของโมเสสกลับคืนมาแล้วท่านจึงกระทำการของพระเจ้าเองโดยตลอด  ยกเว้นครั้งสุดท้ายที่พระองค์ประหารบุตรหัวปีทั้งคน และสัตว์เลั้ยงทั่วทั้งอียิปต์ หลังจากนั้นโมเสสก็เป็นผู้นำคนอิสราเองโดยตลอด เพราะความมั่นใจในฤทธานุภาพของพระเจ้านั่นเอง ...

ฟาโรห์พระทัยแข็งกระด้าง
เรามาทำความรู้จักกับฟาโรห์ก่อนดีกว่าว่าเป็นใคร  พระราชาของอียิปต์จะถูกเรียกว่า “ฟาโรห์” คำว่าฟาโรห์จึงไม่ใช่ชื่อคน  แต่เป็นภาษาอียิปต์ใช้ทับศัพท์แปลว่า “กษัตริย์”  ชาวอียิปต์ไม่เพียงแต่เคารพนับถือฟาโรห์อย่างสูงเท่านั้น  เขายังเชื่อว่าพระองค์เป็นพระเจ้าองค์หนึ่งที่ต้องเชื่อฟ้ง ไม่กล้าละเมิดพระดำรัสของพระองค์...

ทำไมฟาโรห์ถึงพระทัยแข็งกระด้างครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าจะตอบโดยใช้หลักฐานจากพระคัมภีร์เพียงอย่างเดียวก็คงจะต้องตอบว่าเพราะ “พระเจ้าทรงบันดาลให้พระทัยฟาโรห์แข็งกระด้าง”  เป็นคำพูดที่นักเทศน์หลายท่านนำมาใช้บ่อย ๆ ในการเทศนาเรื่องนี้  ซึ่งจากพระคัมภีร์นั้นมีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายจุดด้วยกัน  โดยเริ่มจากตอนที่พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “เราจะทำให้ใจของฟาโรห์แข็งกระด้าง  แม้เราจะกระทำหมายสำคัญ  และอัศจรรย์ให้ทวีมากขึ้นในประเทศอียิปต์  ฟาโรห์ไม่เชื่อฟังเจ้า” (อพย.7:3-4) พระคัมภีร์บันทึกคำว่า “จริงดังที่พระเจ้าตรัสว่าพระทัยฟาโรห์ก็แข็งกระด้างหายอมเชื่อไม่” กล่าวในทำนองเดียวกันเช่นนี้ถึง 6 ครั้ง  มีคำว่า “พระเจ้าทรงให้พระทัยของฟาโรห์แข็งกระด้าง” 3 ครั้งและพระทัยของฟาโรห์แข็งกระด้างเอง 1 ครั้ง  ส่วนครั้งสุดท้ายถึงยอมปล่อยคนอิสราเอล  สาเหตุสำคัญที่ฟาโรห์จำเป็นต้องพระทัยแข็งกระด้างหลายครั้งเพื่อการอัศจรรย์ของพระเจ้าจะได้เพิ่มขึ้นในอียิปต์ (อพย.11:9) และเพื่อคนอิสราเอลจะออกจากอียิปต์อย่างสมกับเป็นประชากรของพระเจ้าที่ทรงเลือกสรรไว้ ซึ่งจากการที่คนอิสราเอลออกจากอียิปต์นั้น  ทำให้มีชื่อเสียงไปทั่วดินแดนต่างๆ เมื่อคนอิสราเอลยกไปที่ไหน  ก็สามารถปราบเมืองต่าง ๆ นั้นได้โดยง่าย เพราะพวกชาวเมืองต่างๆ กลังเกรงอำนาจของพระเจ้า

ยังมีอีกมุมมองหนึ่งของเรื่องนี้  คือตามตำนานโบราณของอียิปต์จากอักขระอักษรภาพโบราณที่เก่าแก่ตามกำแพง  และเสาในมหาวิหารต่างๆ ที่มีผู้ถอดความออกมาเป็นภาษาปัจจุบัน  ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเวทมนตร์ต่างๆ ที่มีอย่างดาษดื่นในอียิปต์เชื่อกันว่าใครได้เรียนมหาเวทจากคัมภีร์เทพเจ้าท็อต ก็จะกลายเป็นผู้เก่งฉกาจไร้เทียมทาน  นักบวชตามวิหารเทพ  ก็ต้องมีศิลปวิทยาการไว้โชว์ให้ฟาโรห์เห็นบ้างตามยุคสมัยของเขา  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในสายตาของฟาโรห์เห็นบ้างตามยุคสมัยของเขา  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในสายตาของฟาโรห์  พระองค์มองดูเรื่องเช่นนี้เป็นเพียงแค่ความบันเทิงอย่างหนึ่งเท่านั้น  การที่โมเสส และอาโรนมาสำแดงกิจมหัศจรรย์ต่างๆ คนของฟาโรห์ก็ทำได้ถึง 3 ครั้ง  ดังนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่าฟาโรห์เห็นแล้วเฉย ๆ เพราะเห็นมาบ่อยจึงคิดว่าสิ่งที่โมเสส และอาโรนกระทำนั้นเป็นเพียงการแสดงกลให้ดูตามจารึกโบราณบันทึกว่าเคยมีการประลองเวทมนตร์ระหว่างสองอาณาจักร คือ อียิปต์ และเอธิโอเปีย  ผลปรากฎว่า ชาวเอธิโอเปียพ่ายแพ้ต่อหน้าพระที่นั่งฟาโรห์  ไม่เพียงเท่านี้  ในประเทศอียิปต์นั้นทุกกิจกรรมของพวกเขามักจะมีเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์  คาถา  มาเกี่ยวข้องด้วยเสมไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตร  การสร้างปิรามิด  การทำพิธีศพ  (ดังตัวอย่างในฉบับที่แล้ว) การสงคราม ฯลฯ แม้ในปัจจุบันผู้คนยังเชื่อถือในคำสาบแห่งสุสานฟาโรห์ใครไปยุ่งเกี่ยวต้องมีอันเป็นไปถึงชีวิต


คนทำวิทยาคม
ในอดีตกาลที่ผ่านมา  มนุษย์เราถูกดึงดูดใจ  และควบคุมโดยความลึกลับแห่งวิทยาคม  ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “magic” แปลว่า “เวทมนตร์คาถา  อำนาจวิเศษ  อาถรรพณ์  มายากล” มาจากคำว่า “magi (อ่านว่า เม-ไจ)” หมายถึง นักบวชชาวเปอร์เซียโบราณ  ซึ่งเชี่ยวชาญกิจกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะ  ความหมายตรง ๆ ก็คือ ความพยายามจะควบคุม หรือบังคับพลังธรรมชาติ  หรือเหนือธรรมชาติให้ทำตามคำสั่งมนุษย์

พระคัมภีร์เดิมได้พูดถึงพวกวิทยาคมไว้หลายแห่ง  ไม่ว่าจะเป็น ปฐมกาล 41:12-14  ดาเนียล 2:27, 4:7  นักวิทยาคมมีบทบาทมากในอียิปต์  บาบิโลน  อิทธิพลนี้ยังแพร่มายังพวกกรีก  และชาวโรมัน  สังเกตได้จากแต่ละวิหารของแต่ละชนชาติจะมีพระ  หรือผู้ประกอบพิธีสำแดงอภินิหารให้เห็นเป็นประจำ  เมื่อประกอบพิธีใดพิธีหนึ่ง

จะขอแบ่งรูปแบบของมายากลตามแบบของโรเบิร์ต เอ. สเต็บบินส์  ซึ่งจัดแบ่งออกมาได้ 3 ประเภทด้วยกัน   คือ

1. มายากลลี้ลับ  คือ “การแสดงถึงสิ่งลี้ลับ” มีการอ้างว่า “เหตุการณ์หรือกระบวนการต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกับสามัญสำนึก หรือความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์” เป็น “ความจริงหรือถูกต้อง” สเต็บบินส์อธิบายว่า “มายากลลี้ลับคือผู้รับใช้ของเวทมนตร์คาถา  พ่อมดหมอผี  การเล่นแร่แปรธาตุ และศาสนา  ภายใต้สภาพการณ์บางอย่าง”

2. มายากลแบบแสวงผลประโยชน์  “ผู้แสดงจะควบคุม หรือหลอกผู้ชมให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง  เพื่อโอ้อวดอำนาจของตน”  พวกเขารู้ว่ากำลังหลอกลวงผู้คน  “พวกเขากระตุ้นผู้คน  ซึ่งกำลังชมมายากลให้เชื่ออย่างอื่น  ให้เชื่อว่าในฐานะมายากล  พวกเขามีอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือมีความเกี่ยวพันพิเศษกับสิ่งที่มีชีวิตซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ” สเต็บบินส์กล่าว

3. มายากลเพื่อความบันเทิง  มีจุดมุ่งหมายเพื่อเร้าให้เกิดความงงงวยพิศวงโดยตบตา  มายากลแบบนี้  แบ่งออกเป็น 5 วิธีพื้นฐาน คือ

            3.1 มายากลบนเวที
            3.2 มายากลที่ให้ดูใกล้ ๆ
            3.3 วิทยากล
            3.4 การลวงตา
            3.5 การติดต่อทางจิต

พระคัมภีร์ว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องผี
พระคัมภีร์กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “เจ้าอย่าเป็นหมอดูหรือเป็นหมอผี” (ลนต.19:26 ฉธบ.18:914) ในหนังสือกิจการกล่าวถึงชาวเมืองเอเฟซัสที่มาเชื่อแล้วได้เอาตำราเวทมนตร์มาเผาไฟต่อหน้าคนทั้งปวง  “มีหลายคนที่เชื่อแล้วได้มาสารภาพ และเปิดเผยว่าเขาได้ใช้เวทมนตร์...” (กจ.19:18-19)

อันตรายจากมายากลแบบแสวงผลประโยชน์  หมอดูลายมือ  ทำนายโชคชะตา  รักษาโรคด้วยวิธีต่าง ๆ โดยใช้เวทมนตร์หรือของวิเศษ ฯลฯ  พวกนี้ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ดังข่าวในหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่พาดหัวอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในประเทศไทย  พระคัมภีร์กล่าวว่า “อย่า..ประพฤติคดโกง หรือมุสาวาทต่อกันและกัน”  (ลนต. 19:11)

บางครั้งพวกวิทยาคมก็ไปยุ่งเกี่ยวกับวิญญาณของผู้ตาย  ซึ่งบางคนต้องการจะติดต่อหรือทราบความเป็นอยู่ของญาติสนิทมิตรสหายของตนเองแม้จะเป็นการทำเล่น ๆ เมื่อได้โอกาสพวกปีศาจสามารถฉวยโอกาสนี้  และพยายามอย่างไม่ลดละ “เมื่อมารทำการทดลองทุกอย่างสิ้นแล้ว  จึงละพระองค์ไปจนถึงโอกาสเหมาะ” (ลก.4:13) “แต่ว่าทุกคนก็ถูกล่อให้หลวเมื่อกิเลสของตัวเองล่อ  และชักนำให้กระทำตาม” (ยก.1:14)

ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก “พญามาร” เพราะมันได้ชื่อว่า “ผู้ล่อลวง” ตั้งแต่สมัยปฐมกาลมาแล้ว (ปฐก.3:1-19) หนังสือธุรกิจเล่มหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ซาตาน” เป็น “เซลล์แมนคนแรกของโลก” คือมัน “ขายความเชื่อ”  ใครจะขายความเชื่อบ้าง? หรือว่าขายไป    แล้วอย่างไม่รู้ตัว  เปาโลเขียนจดหมายบอกพี่น้องที่เมืองเอเฟซัสว่า “เหตุฉะนั้นท่านจงเลียนแบบของพระเจ้า..” (อฟ.5:1) ในหนังสือยากอบก็กล่าวในเรื่องนี้เช่นกัน  “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงน้อมใจยอมฟังพระเจ้า  จงต่อสู้กับมาร และมันจะหนีท่านไป” (ยก.4:7)

มีหลายคนนำเรื่อง “มายากล” ไปรวมกับความบันเทิง อาจจะไม่มีใครคัดค้านเรื่องนี้  แต่ถ้ามีการเสแสร้งว่าเป็น “มายากลลี้ลับ” คริสเตียนควรใส่ใจกับเรื่องนี้ไหม .. ยังมีอันตรายแฝงอยู่มากมายเกี่ยวกับเรื่อง “มายากล” คริสเตียนแท้จึงครหลีกห่างจากการฝึกปฏิบัติสิ่งเหล่านี้  หรือข้องเกี่ยว หรือชมการแสดง “ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงใจสำนักผิดชอบของท่าน  แต่หมายถึงใจสำนึกผิดชอบของคนที่บอกนั้น” (1คร.10:29) “ในข้อนี้ข้าพเจ้าอุตสาห์ประพฤติตามจิตสำนึกเห็นว่าดีเสมอ  มิให้ผิดต่อพระเจ้า และต่อมนุษย์” (กจ. 24:16)