ค้นหาข้อมูลจากบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรื่อง "การแสดงทัศนะในที่ที่มีความคิดต่าง" บทเรียนมาจากหนังสือกิจการบทที่ 17


วันอาทิตย์ที่ 4 พย. 2012 ที่ Koffee Church รามอินทรา กม. 2 ผมจะแบ่งปันเรื่อง "การแสดงทัศนะในที่ที่มีความคิดต่าง" บทเรียนมาจากหนังสือกิจการบทที่ 17 เป็นตอนที่เปาโลไปประกาศกับกลุ่มนักปรัชญา การแสดงทัศนะต่อคนมีความรู้ มีการศึกษา อาจทำให้เราขาดความมั่นใจในพระเจ้าไปได้ แต่เปาโลเอาอยู่ เพราะสุดท้ายก็มีคนสนใจเรื่องที่ท่านพูด

กิจการบทที่ 17 ข้อ 22 ฝ่ายเปาโลจึงยืนขึ้นกลางสภาอาเรโอปากัสแล้วกล่าวว่า “ดูก่อนท่านชาวกรุงเอเธนส์ โดยประการต่างๆข้าพเจ้าเห็นได้ว่า ท่านทั้งหลายเป็นนักศาสนา
23 เพราะว่าเมื่อข้าพเจ้าเดินทางมาสังเกตดูสิ่งที่ท่านนมัสการนั้น ข้าพเจ้าได้พบแท่นแท่นหนึ่ง มีคำจารึกไว้ว่า 'แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก' เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมาประกาศ และแสดงให้ท่านทั้งหลายทราบ ถึงพระเจ้าที่ท่านไม่รู้จักแต่ยังนมัสการอยู่
24 พระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกกับสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในนั้น พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก มิได้ทรงสถิตในปูชนียสถานซึ่งมือมนุษย์ได้กระทำไว้
25 พระองค์มิจำต้องให้มือมนุษย์มาปรนนิบัติ ดังว่ามีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิตและลมหายใจ และสิ่งสารพัดแก่คนทั้งปวงต่างหาก
26 พระองค์ได้ทรงสร้างมนุษย์ทุกชาติ สืบสายโลหิตอันเดียวกันให้อยู่ทั่วพิภพโลก และได้ทรงกำหนดเวลาและเขตแดนให้เขาอยู่
27 เพื่อเขาจะได้แสวงหาพระเจ้าและมุ่งหวังจะคลำหาให้พบพระองค์ ที่จริงพระองค์มิทรงอยู่ห่างไกลจากเราทุกคนเลย
28 ด้วยว่า 'เรามีชีวิต และไหวตัว และเป็นอยู่ในพระองค์' ตามที่กวีบางคนในพวกท่านได้กล่าวว่า 'แท้จริงเราทั้งหลายเป็นเชื้อสายของพระองค์'
29 เหตุฉะนั้นเมื่อเราเป็นเชื้อสายของพระเจ้าแล้ว เราก็ไม่ควรถือว่าพระเจ้าทรงเป็นทอง เงิน หรือหิน อันเป็นปฏิมากรสำเร็จด้วยศิลปะและความคิดของมนุษย์
30 ในเวลาเมื่อมนุษย์ยังไร้เดียงสา พระเจ้ามิได้ทรงถือโทษ แต่เดี๋ยวนี้ พระเจ้าได้ตรัสสั่งแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วทุกแห่งให้กลับใจใหม่
31 เพราะพระองค์ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ในวันนั้นพระองค์จะทรงพิพากษาโลกตามความชอบธรรม โดยมนุษย์ผู้นั้นซึ่งพระองค์ได้ทรงเลือกไว้ และพระเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งปวงมีความแน่ใจในเรื่องนี้ โดยทรงให้มนุษย์ผู้นั้นคืนชีวิต”


ในกจ. 17:18 [TBS1971])
"...ปรัชญาเมธีบางคนในพวกเอปิคูเรียน และในพวกสโตอิกได้มาพบท่าน บางคนกล่าวว่า “คนเก็บเดนความรู้เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้จะใคร่มาพูดอะไรให้เราฟังเล่า” บางคนกล่าวว่า “ดูเหมือนเขาเป็นคนนำพระต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่เพราะเปาโลได้ประกาศพระนามพระเยซู และเรื่องการเป็นขึ้นมาจากความตาย..."

จากข้อความนี้ระบุว่ามีนักปรัชญา 2 สำนักคือ "เอปิคูเรียน" และ "สโตอิก" สนใจมาพบเปาโล แล้วคน 2 สำนักนี้เชื่ออะไร หากไปค้นหาจากตำราคู่มือหนังสืิอ "กิจการ" อาจจะไม่มีการเอ่ยถึงทั้ง 2 สำนักนี้เลย แต่ใน "theWord" ของสมาคมฯ ได้มีคำอธิบายดังนี้

พวกเอปิคูเรียนและในพวกสโตอิก พวกเอปิคูเรียนเป็นลูกศิษย์ของเอปิคูรัสซึ่งเป็นนักปรัชญาที่มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 340-270 ก่อน ค.ศ. ท่านสอนว่าพวกเทพและเจ้าอาจไม่มีอิทธิพลเหนือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก จุดประสงค์ของชีวิตคือการแสวงหาความสุขและความพอใจในโลกนี้ ส่วนพวกสโตอิกเป็นลูกศิษย์ของนักปรัชญาที่ชื่อ ซีโน ท่านมีชีวิตระหว่างปี 340-265 ก่อน ค.ศ. ท่านเน้นเรื่องการมีเหตุผล ศีลธรรมจรรยาและการบังคับตนเองอยู่เสมอ

ประกาศ...จากความตาย ผู้ฟังอาจเข้าใจว่าเปาโลประกาศพระใหม่สององค์คือ “พระเยซู” และ “การเป็นขึ้นมาจากความตาย” เพราะมีเรื่องที่เล่ากันต่อๆ มาว่า เทพองค์หนึ่งเป็นขึ้นมาจากความตายโดยมีเทพีที่ชื่อ “อานาสตาเซีย” มาทำให้เป็นขึ้น คำว่า “เป็นขึ้นจากความตาย” มาจากคำภาษากรีกว่า “อานาสตาเซีย” ซึ่งเอามาจากชื่อของเทพีองค์นี้


สำนัก "เอปิคูเรียน" มีเจ้าสำนักคือ "เอปิคูรัส" (341-270 กคศ.) ตัวเจ้าสำนักเองเริ่มศึกษาปรัชญาตั้งแต่อายุ 18 เดินทางมาเอเธนส์ และตลอดชีวิตของเขาผลิตผลงานไม่น้อยกว่า 300 เรื่อง ปรัชญาของสำนักนี้อยู่ในยุคปลายของปรัชญากรีกก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นอาณาจักรโรมัน

ทัศนะทางปรัชญาที่ชัดเจนก็คือมีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มนุษย์มีความทุกข์เพราะกลัวเทพเจ้า.. ความกลัวเกิดจากความโง่เขลา หากรู้ความจริง ความกลัวจะหมดไป

สำนักนี้ไม่ยอมรับเรื่องเทพเจ้าสร้างโลก แต่ก็ยังยอมรับว่าเทพเจ้าแยกตัวออกจากโลกไม่เกี่ยวกัน

สรุปว่า สำนักนี้จะเรียกว่าเป็นพวกวัตถุนิยมก็ว่าได้ เพราะเน้นเรื่องความสุขในการดำเนินชีวิต ไม่สนใจเทพเจ้าจะมาบันดาลอะไร ถ้าตนเองทำได้เอง แล้วมีความสุข ก็ทำเถิด

ลองมาอ่านปรัชญาของสำนักนี้ดูครับ

"ความสุขทุกอย่างเป็นความดีในตัวเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความสุขทุกอย่างมีค่าควรแสวงหา... ความทุกข์ทุกอย่างเป็นความชั่ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าความทุกข์ทุกอย่างเป็นเรื่องควรหลีกเลี่ยง"
"ถ้าเทพเจ้าประสงค์จะขจัดความเลวร้ายในโลก แต่ทำไม่ได้ เทพเจ้าก็ไร้ความสามารถ ถ้าเทพเจ้ามีความสามารถแต่ไม่ประสงค์จะขัดความเลวร้ายในโลก เทพเจ้าก็แล้งน้ำใจ
ถ้าเทพเจ้าไม่มีทั้งความสามารถและความประสงค์ที่จะขจัดความเลวร้ายในโลก เทพเจ้าก็ไร้ความสามารถและแล้งน้ำใจ
ถ้าเทพเจ้ามีทั้งความสามารถและความประสงค์ที่จะขจัดความเลวร้ายในโลก แล้วความเลวร้ายเกิดขึ้นในโลกได้อย่างไร?"

ในยุคปัจจุบัน มีคนอ้างว่าตนเองเป็นเอปิคูเรียน นั่นคือ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยประกาศเอาไำว้ว่า "ข้าพเจ้าเป็นเอปิคูเรียน ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่าคำสอนที่แท้จริงของเอปิคิวรุสเสนอเหตุผลเพียบพร้อมให้กับจริยศาสตร์ที่ชาวกรีกและชาวโรมันส่งทอดมายังพวกเรา"

เจฟเฟอร์สันได้ตัดการอัศจรรย์ต่างๆ ออกจากพระคัมภีร์ โดยเหลือแต่คำสอนของพระเยซูเท่านั้น



อีกสำนักคือ "สโตอิก" เจ้าสำนักคือ "เซโนแห่งคิติอุม" (334-262 กคศ.) เกิดที่เมืองคิติอุม เกาะไซปรัส ปรัชญาของสำนักนี้ส่งผลให้ชาวโรมันชั้นสูง

ชื่อ "สโตอิก" มาจากสำนักปรัชญาตั้งขึ้นบริเวณซุ้มประตูเมือง ซึ่งเรียกประตูเมืองว่า "สโตอา" ในภาษากรีก ก็เลยตั้งชื่อสำนักว่าประตูเมือง

พวกสโตอิกเชื่อว่า พระเจ้าเป็นไฟอันประณีตที่สุด จากนั้นพระองค์ก็เปลี่ยนเป็นลม จากลมกลายเป็นน้ำ จากน้ำกลายเป็นดิน แล้วสรรพสิ่งก็เกิดขึ้น พระเจ้าเป็นวิญญาณของโลกที่แทรกสถิตอยู่ในสรรพสิ่งของโลก

พวกนี้ยังเชื่ออีกว่า พระเจ้าเป็นปัญญาอันสมบูรณ์และเป็นวจนะ (Logos) คือกฎแห่งเหตุผลที่จัดระเบียบให้กับจักรวาล

กวีของสโตอิกนามว่า "เคลอันธีส" แต่งบทสรรเสริญเทพเจ้าซุสดังนี้
"ข้าแต่ซุสผู้ประเสริฐเหนือเทพเจ้าทั้งปวง
ที่คนรู้จักในหลายพระนาม
ทรงเปี่ยมด้วยฤทธานุภาพ
โลกเกิดมาจากพระองค์
พระองค์ทรงใช้กฎปกครองโลก
พวกเราสรรเสริญพระองค์
เพราะพวกเราเกิดมาจากพระองค์
ดังนั้นข้าฯ จึงแต่งบทสวดสรรเสริญพระองค์
และขอสวดสรรเสริญพระองค์"

ซึ่งเป็นบทกวีที่เปาโลกอ้างถึงในกิจการ บทที่ 17 ข้อ 28 ด้วยว่า ‘เรามีชีวิต และไหวตัว และเป็นอยู่ในพระองค์’ ตามที่กวีบางคนในพวกท่านได้กล่าวว่า ‘แท้จริงเราทั้งหลายเป็นเชื้อสายของพระองค์’ 

สำนักนี้มีความพยายามรวมศาสนาและปรัชญาเข้าด้วยกัน เมื่อคริสตศาสนาเข้ามาในอาณาจักรโรมันจึงเข้าทาง เพราะชาวโรมันชั้นสูงสนใจปรัชญาของสโตอิกมากว่าเอปิคูเรียนที่ชนะใจชาวกรีก

ดังนั้นปรัชญาหรือความเชื่อต่างๆ ที่นอกเหนือจากความเชื่อทางศาสนาจะรับอิทธิพลของปรัชญาสโตอิกสอดแทรกอยู่ในคำสอนของคริสต์ศาสนาในยุคเริ่มต้น จนสู่ยุควิทยาศาสตร์