ค้นหาข้อมูลจากบล็อกนี้

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โลกของเรากลมจริงหรือ?


สวัสดีครับพี่น้องคริสเตียนทุกท่านพบกันฉบับแรกก็ขอตั้งคำถามเองตอบเองก่อนเลย เพราะยังไม่มีใครถามกันมา  จริง ๆ แล้วคำถามที่ว่า “ทำไมคนในสมัยก่อนจึงเชื่อว่าโลกแบน?”  นั้นผมเคยได้ยินคำถามนี้มาจากพี่น้องท่านหนึ่ง แล้วยังถามอีกว่า “มีพระคัมภีร์ข้อไหนบ้างที่บอกว่าโลกกลม?”  ก็เป็นคำถามที่ตอบยากเอาการอยู่  ถ้าจะให้ตอบในทันทีเลยก็คงต้องตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน” หรือ “ขอเวลาศึกษาดูก่อน”  แล้วคำถามนี้ก็ค้างอยู่ในใจของคนถามตลอดไป  เพราะคนตอบไม่รู้จะมาเฉลยเมื่อไหร่  คำถามนี้ก็ค้างอยู่ในใจของผมเหมือนกัน  จึงต้องทำการค้นคว้าว่ามีพระคัมภีร์ตอนไหนบ้างที่บอกว่า โลกกลม  ถ้าจะให้เปิดพระคัมภีร์ดูทุกหน้าคงจะใช้เวลามากเกินไป  ดังนั้น ผมจะเริ่มต้นที่ “ศัพท์สัมพันธ์พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับ 1971”  โดยศจ.โรเบอร์ต นิชิโมโต๊ะ  เป็นผู้จัดทำ

ดูจากศัพท์สัมพันธ์
ก็พบคำว่า “โลก” มี 368 แห่ง “ชาวโลก” 1 แห่ง  “โลกธาตุ” 2 แห่ง “โลกบาดาล” 5 แห่ง “โลกปัจจุบัน” 1 แห่ง “โลกมนุษย์” 1 แห่ง และ “โลกใหม่” อีก 2 แห่ง  ไม่มีแห่งไหนเลยที่จะสนับสนุนว่าโลกกลม  มีแต่จะสนับสนุนว่าโลกแบน...

         เช่นในพระคัมภีร์เดิม  เฉลยธรรมบัญญัติ 13:7 กล่าวว่า “... ไม่ว่าใกล้หรือไกล  จากสุดปลายแผ่นดินโลกข้างนี้ถึงสุดปลายแผ่นดินโลกข้างโน้น..” และบทที่ 26:65  อิสยาห์ 24:16; 41:9  เยเรมีย์ 16:19 ; 25:33  ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า มีจุดปลายโลก  โลกนั้นมีปลายข้างหนึ่งไปยังปลายอีกข้างหนึ่ง  ยิ่งไปกว่านั้นพระคัมภีร์ใหม่ในหนังสือกิจการก็ยังมีข้อความที่กล่าวสนับสนุนอีกว่าโลกแบนคือ  บทที่ 1:8 “... และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในเยรูซาเร็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” สุดปลายแผ่นดินโลก หรือว่าโลกเรานี้แบนจริง ๆ เพราะถ้าคิดตามจริง ๆ ง่าย ๆ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น  คือพอเรานึกถึงอะไรที่มีปลายข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง  มันต้องเป็นวัตถุที่แบน  มีความยาวเดินทางเป็นเส้นตรงเมื่อเรามองดูโลกมันก็ตรง ๆ ไปไม่เห็นมีส่วนไหนโค้งให้เห็น  ทีนี้เรามาดูกันต่อดีกว่าว่ามีใครบ้างในยุคโบราณที่เชื่อว่าโลกเรานี้แบนบ้าง

คนในยุคโบราณเชื่อกันต่อๆ มาว่า “โลกแบน”
  ไม่เพียงแต่เชื่อว่าโลกแบนเท่านั้น  ยังเชื่อว่าโลกเรานั้นเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอีกด้วย  พวกที่ตั้งสมมุติฐาน  หรือสนใจเกี่ยวกับโลกกลมหรือแบนนั้นก็เห็นจะมีแต่พวกนักปรัชญาเท่านั้น  เพราะชาวบ้านธรรมดาคงไม่สนใจกันเท่าไหร่  เมื่อประมาณ 624 ปีก่อนคริสตกาล  ที่นครรัฐกรีก (ตอนนั้นยังไม่เป็นประเทศ) ได้กำเนิดชายคนหนึ่งชื่อธาเลส (Thales)  ท่านคือนักปรัชญากรีก เป็นผู้ก่อตั้งสำนักไมเลตุส และได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของปรัชญาตะวันตก  ท่านสามารถทำนายการเกิดสุริยคราสได้อย่างแม่นยำ  มีชื่อเสียงขึ้นถึงขีดสุดเมื่อถูกแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 7 บัณฑิตกรีก  ท่านมีความเชื่อว่าโลกมีลักษณะกลมแบน  และลอยอยู่เหนือน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาลหาของเขตมิได้โลกมีกำเนิดมาอย่างไร  ท่านคิดหาคำตอบด้วยการสังเกตธรรมชาติรองตัวแล้ววิเคราะห์หาเหตุผลสนับสนุน ธาเลสมิได้อ้างตำนาน  หรือเทพนิยายกรีกโบราณสนับสนุนการหาคำตอบของตนเองแต่อย่างใด (ชาวกรีกในยุคนั้นเชื่อว่า โลกถูกสร้างโดยเทพเจ้าต่างๆ)  เมื่อธาเลสทำอย่างนี้นั้นก็แสดงว่าท่านเปิดโอกาสให้คนอื่นคิดตามอย่างเสรี  ใครคิดตามแล้วอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับทัศนะของท่านก็ได้  เท่ากับเป็นการเปิดศักราชให้กับการคิดแบบปรัชญาในสังคมกรีกโบราณก็ทำให้มีนักปรัชญาหลายสำนักเกิดขึ้นในยุคต่อมา  มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้  แต่ก็ทำให้เกิดอิทธิพลอย่างหนึ่งในด้านความคิด คือ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดเท่าเทียมกัน
พลาโต้ และอริสโตเติ้ล
จนมายุคของโปรแทกอรัส (Protagoras 480-410 ปีก่อนคริสตกาล) ท่านได้กล่าวว่า “มนุษย์เป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง”  ในทัศนะของท่านถือว่าความคิดเห็นของทุกคนถูกด้วยกันทั้งหมด  หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “ทัศนะอัตนัย (Subjective Opinion)”  เป็นคำที่ใช้บ่อยมากในวิชาปรัชญา ยกตัวอย่างเช่น ผมสงสัยว่า โลกนี้กลมหรือแบน  บนความสงสัยนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ
        (1) ผม หรือจิต ผู้คิดสงสัย
        (2) โลก  หรือวัตถุที่ถูกคิด  ดังนั้นต้องพิสูจน์และก็ต้องตอบว่า โลกแบน  เพราะสายตาบอกผมอย่างนั้น  ผมมองไปข้างหน้า  ผมเห็นแต่ทางราบยาวไปจรดของฟ้า  ดังนั้นก็ต้องสรุปว่าโลกแบน  เพราะผมเห็นว่ามันแบน  ทัศนะของผมถูกเพราะมันเป็นความจริงในทัศนะผม (เราจะพบว่าคนในปัจจุบันก็มีความคิดเห็นแบบนี้อยู่เหมือนกัน) นั่นเป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบนักปรัชญาในยุคแรก ๆ และมีอิทธิพลต่อคนในยุคต่อมาด้วย
บุคคลต่อมาที่ทำให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก  ท่านหนึ่งก็คือ พลาโต้ (Plato  427-347  ก่อนคริสตกาล)  ท่านเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล  ดวงดาวทั้งหลายโคจรรอบโลก วิถีโคจรของดวงดาวเป็นวงกลม  การที่ดวงดาวและโลกเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นระเบียบ  เนื่องจากสิ่งเหล่านี้นมีวิญญาณสิงสถิตอยู่  ท่านสรุปว่าพระเจ้าเป็นผู้บงการ  โดยการนำเทพนิยายโบราณมาอธิบายประกอบ  ในเรื่องนี้ถือเป็นข้อด้อยอย่างหนึ่งในวิชาปรัชญาของพลาโต้ เพราะเทพนิยายไม่ใช่เหตุผลที่หนักแน่นพอสำหรับสนับสนุนทฤษฎีทางปรัชญา  แต่เมื่อมองในทางประวัติศาสตร์ก็พบว่าเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของนักปรัชญายุคต่อมาได้ยาวนานที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นอริสโตเติล  ลัทธิพลาโต้ใหม่  หรือปรัชญาคริสต์  ล้วนได้รับอิทธิพลจากพลาโต้ทั้งสิ้น
ส่วนอริสโตเติล (Aristotle 384-322 ปีก่อนคริสตกาล)  สังเกตพบว่าดวงดาวบนท้องฟ้าโคจรเป็นวงกลม  จักรวาลเคลื่อนที่ตลอดเวลา  การเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ ในจักรวาลมีสาเหตุมาจากพลังภายนอกสิ่งเหล่านั้น เมื่อสาวหาสาเหตุแรกสุดของการเคลื่อนไหว  ก็ได้คำตอบว่าปฐมเหตุแห่งการเคลื่อนไหวคือ พระเจ้าเป็นแบบบริสุทธิ์  พระเจ้าคือผู้ทำให้สรรพสิ่งเคลื่อนไหวโดยที่ตนเองไม่เคลื่อนไหว (Unmoved Mover) “การเคลื่อนไหว” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทุกประการ  ไม่ว่าในเชิงปริมาณ คุณภาพ หรือการเปลี่ยนสถานที่เนื่องจากพระเจ้าไม่ทรงเคลื่อนไหว เหตุฉะนั้นพระเจ้าจึงไม่เปลี่ยนแปลง  ดังนั้นอริสโตเติลจึงกล่าว่า “พระเจ้าเป็นภาวะที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ทรงมีชีวิตต่อเนื่องเป็นนิตย์  นั่นคือพระเจ้า”
ความรู้ด้านจักรวาลของอริสโตเติลตั้งอยู่บนข้อมูลที่จำกัดของนักดาราศาสตร์สมัยนั้น  ท่านเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล  ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหมดโคจรรอบโลกเป็นวงกลม  อริสโตเติลแบ่งจักรวาลออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนล่าง  นับตั้งแต่ภายใต้ดวงจันทร์ลงมาถึงพื้นโลก  และส่วนบนนับแต่ดวงจันทร์ขึ้นไปจนถึงดวงดาว  สุดท้ายที่ขอบจักรวาล

ปโตเลมี
ทัศนะของอริสโตเติลที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนี้ได้รับการสนับสนุนต่อมาโดยนักดาราศาสตร์ชาวกรีก-อียิปต์ที่มีชื่อว่า คลาวดิอุส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy ค.ศ.130) ได้เสนอแนวความคิดคือ “ระบบจีโอเซนทริก”  ในหนังสือ “Almagest”  ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล  ปักหลักนิ่งอยู่กับที่มีดวงดาวโคจรรอบโลก  วงโคจรเป็นวงกลม  มีผู้คนมากมายเชื่อตามทัศนะนี้นานถึง 1800 ปี
ในปี ค.ศ.1539 ได้มีผู้เขียนภาพระบบสุริยจักรวาล  โดยถอดมาจากคำสอนของปโตเลมี  และใช้ภาษาละติน  วงกลมรอบนอกจะเป็น Habitaculum  Dei  หรือแหล่งพำนักของพระผู้เป็นเจ้า
ในปี ค.ศ.1611 ได้มีการแปลพระคัมภีร์ฉบับกษัตริย์เจมส์ (King James Version) เป็นพระคัมภีร์ฉบับที่มีชื่อเสียงมาก  ก็ยังสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วย  ดังในหนังสืออิสยาห์ บทที่ 40 ข้อ 22 ซึ่งได้กล่าวว่า “มีผู้หนึ่งซึ่งประทับเหนือวงกลมแห่งแผ่นดินโลก (It is he that sitteth upo the circle of the earth... )”
           สรุปได้ว่าปรัชญาของอริสโตเติลมีอิทธิพลอย่างมากต่อนักปรัชญาสมัยกลางนั้นคือ  ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและศาสนาอิสลาม  ได้นำปรัชญามาช่วยอธิบายความสมเหตุสมผลของศาสนา ปรัชญาของท่านช่วยเสริมคำสอนได้เป็นอย่างดี


มาถึงยุควิทยาศาสตร์เริ่มต้น
โคเพอร์นิคัส
เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1543 นิโคเลาส์โคเพอร์นิคัส  ชาวโปแลนด์ นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปแตสแตนท์  ผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์  ท่านเดินทางมาศึกษายังประเทศอิตาลีและได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “On the Revolutions of the Heavenly Spheres”  เกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีการเคลื่อนไหวของดวงดาวและท่านเชื่อว่าโลกไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่  โลกจะหมุนรอบตัวเองครบ 1 รอบ/วัน  ยิ่งไปกว่านั้นโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เหมือนเป็นดาวเคราะห์อื่น ๆ ระบบนี้เรียกว่า  “ระบบเฮลิโอเซนทริก”  มีนักวิทยาศาสตร์มากมายพิสูจน์ และยืนยันว่าเป็นคามจริง  ชาวฝรั่งเศสทานหนึ่งได้เขียนแผนภาพขึ้นมา  เพื่อสนับสนุนแนวคิดของโคเพอร์นิคัส  ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของปโตเลมีโดยสิ้นเชิง

โยฮันเนส เคปเลอร์ (ค.ศ. 1571-1630) ชาวเยอรมัน  นักคณิตศาสตร์ และดาราศาตร์ 
    หนังสือของโคเพอร์นิคัสได้รับการตีพิมพ์โดยโยฮันเนส เคปเลอร์ (ค.ศ. 1571-1630) ชาวเยอรมัน  นักคณิตศาสตร์ และดาราศาตร์  ท่านเป็นผู้ตั้งกฎสำคัญๆ เกี่ยวกับการโคจรของดวงดาวต่างๆ อยู่ในวงรีในขอบเขตคงที่  โดยดวงดาวนั้นๆ จะไม่ล้ำเขตวงรีนั้นเข้าไปภายในเลย  ซึ่งครั้งหนึ่งท่านเคยคิดว่าน่าจะมีหลักการบางอย่างที่สามารถอธิบายถึงปรากฎการณ์ของดวงดาวต่างๆ ในรูปวงรีในขอบเขตที่ว่านี้  แต่ไม่รู้หลักการนั้นคืออะไร  จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ประจำวันอยู่  ท่านพบข้อความตอนหนึ่งที่พระเยซูกล่าวว่า “เมื่อเราถูกยกขึ้นจากแผ่นดินโลกแล้ว  เราก็จะชักนำคนเป็นอันมากให้มาหาเรา” (ยอห์น 12:32) ในทันใดนั้นท่านก็เกิดความคิดแวบหนึ่งขึ้นมาว่า เป็นไปได้ที่ดวงดาวต่างๆ ดึงดูดกันและกันในห้วงอวกาศเหมือน ๆ กับคำสอนทางด้านจิตวิญญาณเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่สามารถดึงดูดคนจำนวนมากมาหาพระองค์  จึงทำให้ท่านตั้งกฎต่างๆ ว่าด้วยการโคจรของดวงดาว (ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต  ท่านได้เขียนตำราว่าด้วยเหตุผลสนับสนุนความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์ว่าเป็นพระคำของพระเจ้า)
ในตอนนั้นก็มีอีกท่านหนึ่งที่เชื่อตามแนวคิดของโคเพอร์นิคัสก็คือ  กาลิเลโอ (Gaileo ค.ศ. 1564-1641) นักคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ชาวอิตาลี  และเป็นผู้ที่เคร่งครัดในสาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกท่านเกิดที่เมืองปิซา (เมืองที่มีหอเอียงที่โด่งดังจนติดอันดับสิ่งมหัศจรรย์ของโลก) ท่านได้เขียนจดหมายติดต่อกับเคปเลอร์เสมอและแจ้งว่าแนวคิดของโคเพอร์นิคัสถูกต้อง แต่กาลิเลโอไม่กล้าประกาศอย่างเปิดเผย  เพราะแนวคิดนี้ขัดแย้งกับคำสอนของนักปรัชญาโบราณที่ผู้คนนับถืออยู่  คือ อริสโตเติล และแนทางของศาสนจักรในยุคนั้น
ในปี ค.ศ. 1609 มีข่าวจากฮอลแลนด์ว่า อันส์ ลิปเปอร์เซีย สร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้เป็นผลสำเร็จนั่นคือ  “กล้องโทรทรรศน์” อุปกรณ์ที่ใช้เลนส์ดึงภาพแสนไกลให้เห็นเสมือนอยู่ใกล้ตา กาลิเลโอจึงลงมือสร้างกล้องโทรทรรศน์ของตนเองขึ้นมาบ้างในเวลาต่อมา  ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ได้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 32 เท่า กล้องของเขาให้ภาพชัดเจน  และกำลังขยายสูงกว่าของผู้คนในยุคนั้นอีกไม่นาน  ต่อมาก็มีการใช้กล้องโทรทรรศน์แพร่หลายทั่วยุโรป

ปฏิวัติวงการดาราศาสตร์
กาลิเลโอ
เพียงส่องกล้องดูดาวไม่กี่เดือน  กาลิเลโอก็ค้นพบเรื่องสำคัญหลายเรื่อง  ผลงานการค้นพบส่วนหนึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ Starry Messenger (1610) ท่านพบว่าพื้นผิวของดวงจันทร์ไม่ได้เนียนสวยเหมือนที่ผู้คนมองเห็น   แต่เป็นพื้นขรุขระมีแอ่งมีภูเขา  ทางช้างเผือกก็คือกลุ่มดวงดาวจำนวนนับไม่ถ้วนมารวมกัน  การค้นพบดาวบริวารของดาวพฤหัส  นับว่าเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะจะหักล้างแนวคิดดั้งเดิมของปโตเลมี  ซึ่งทำให้เรารู้ว่าโลกมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  การค้นพบของท่านก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน  จึงทำให้ท่านต้องย้ายที่อยู่อาสัยไปปักหลักที่เมืองฟลอเรนซ์

ในปี 1611 ท่านเดินทางเข้ากรุงโรม  นำกล้องโทรทรรศน์มาให้นักวิทยาศาสตร์ และบุคคลสำคัญได้ชมเป็นขวัญตา  จนท่านได้รับคัดเลือกให้เข้าสมาคม “แอคคาเดมีย เดอิ ลินเชอิ (Accademiadia Lincei)”  สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งโลก
ในปี 1613 ท่านเขียนหนังสือ Letter ob Sunspots เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้  เป็นผลงานของการสังเกตการณ์  โดยใช้กล้องโทรทรรศน์และเป็นครั้งแรกที่กล่าวสนับสนุนแนวคิดของโคเพอร์นิคัสอย่างเปิดเผย ซึ่งนำไปสู่โทษทัณฑ์ร้ายแรงถึงขั้นจองจำตลอดชีวิต
แกรนด์ดัชเชส  คริสตินา
ในปี 1615 กาลิเลโอเขียนจดหมายทูลชี้แจงต่อ แกรนด์ดัชเชส  คริสตินาเพื่อขอ “เสรีภาพทางวิทยาศาสตร์” แต่ไม่เป็นผล  ดังนั้นท่านจึงเดินทางเข้ากรุงโรม เข้าเฝ้าสันตะปาปาที่ 5 ทูลขอเสรีภาพทางวิทยาศาตร์ เช่นเดียวกัน และยืนยันว่าโคเพอร์นิคัสเป็นฝ่ายถูก  ซึ่งแนวคิดนี้ขัดแย้งกับคำสอนทางศาสนา  และปโตเลมี
ในปี 1616 กาลิเลโอถูกนำตัวขึ้นศาล  ศาสนาถูกสั่งห้ามมิให้สอนไม่ให้เขียนสนับสนุนโคเพอร์นิคัสอีกต่อไป  มิฉะนั้นจะต้องโทษจำคุก
ในปี 1623 ท่านเขียนหนังสือ  Assayer เสนอหนทางสร้างโลกใหม่.. โลกที่เป็นจริงแทนที่จะอิงอยู่กับคำสอนดั้งเดิม  และในปีเดียวกัน  มาฟเฟโอ บาร์เบรินี่ เพื่อนเก่าของท่านได้รับการสถาปนาเป็นองค์สันตะปาปาเออร์บันที่ 8 และอนุญาตให้กาลิเลโอเขียนหนังสือเปรียบเทียบทฤษฎีทางศาสนศาสตร์ทั้งใหม่และเก่าได้อย่างเท่าเทียมกัน
องค์สันตะปาปาเออร์บันที่ 8
ในปี 1632 กาลิเลโอจึงเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ  Dialogue Concerning the Two Chief World Systems ถือได้ว่าเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเล่มหนึ่งท้าทายคำสอนดั้งเดิม และชี้ชัดว่ากฎสำหรับสวรรค์และกฎของโลกควรจะแยกจากกัน  เมื่อตีพิมพ์แล้วทางศาสนจักรโรมันคาทิอลิกพบว่า  เนื้อหาของหนังสือมิได้นำเสนออย่างเท่าเทียมกัน  เนื้อเรื่องสนับสนุนแนวคิดของโคเพอร์นิคัสทั้งหมด และคำสอนของอริสโตเติล และปโตเลมีเป็นฝ่ายผิด
ในปี 1633 ท่านจึงถูกจับตัวขึ้นศาลอีกครั้ง  ท่านให้การต่อศาลศาสนาและยืนยันว่า  การสังเกตการณ์  และข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย  แต่ท้ายที่สุดท่านถูกบังคับให้รับว่างานของท่าล้ำเส้นมากไป  หนังสือของท่านทุกเล่มถูกสั่งห้ามอ่าน หนังสือ Dialogue ถูกเก็บมาเผาทิ้งท่านถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่องค์สันตะปาปาสั่งการให้ลดหย่อนผ่อนโทษเหลือเพียงจองจำให้อยู่ในบ้าน
ในปี 1637 แม้ท่านจะถูกจองจำ แต่ท่านก็ไม่เคยหยุดสังเกตการณ์  ท่านจึงค้นพบว่าดวงจันทร์มีการแกว่งสั่นกระเพื่อม  เพราะเส้นศูนย์สุตรของดวงจันทรมิได้ตั้งฉากกับแกนการหมุนรอบตัวเอง
ในปี 1638 ท่านเขียนหนังสืออีก  ชื่อว่า Discoures  ซึ่งต้องลักลอบออกไปพิมพ์ต่างประเทศ  เพราะถูกศาสนจักรสั่งห้าม (หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อมากับผลงานของ ไอแซค นิวตัน)

กาลิเลโอขึ้นศาลศาสนาในข้อหา "ประพฤตินอกรีต ฝ่าฝืนแนวทางคาทอลิกอย่างร้ายแรง"
ในปีถัดมา  ท่านตาบอดทั้งสองข้าง แต่ก็ยังทำงานหนัก และครุ่นคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เสมอ ท่านมีเพื่อนมาเยี่ยมเยียนพบปะไปมาหาสู่กันเสมออย่างไม่ขาดสาย  เพื่อนฝูงพยายามหลายครั้งที่จะขออภัยโทษ  แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในที่สุดท่านเสียชีวิตในวันที่ 8 มกราคม 1642
ปี 1642-1727 ไอแซค นิวตัน ถือกำเนิดในปีที่กาลิเลโอเสียชีวิต  ท่านได้นำงานของกาลิเลโอมาสานต่อในสังคมที่เห็นคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ และในที่สุดท่านสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับวงการวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่ากาลิเลโอจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเรื่องของจักรวาล  และดาราศาสตร์ แต่ท่านก็เป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดเป็นอย่างมาก  ท่านเขียนหนังสืออธิบายความรู้  เรื่องจักรวาลหลายร้อยหน้าโดยอ้างอ้งจากพระคัมภีร์  ท่านกล่าวข้อความตอนหนึ่งไว้ว่า  “พระคัมภีร์และธรรมชาติ  ต่างเป็นผลโดยตรงจากพระเจ้า  ..พระคัมภีร์เกิดขึ้นเพราะการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ และธรรมชาติเกิดขึ้นจากการเชื่อฟังคำตรัสของพระองค์”  เช่นในหนังสือปฐมกาลตอนหนึ่งบันทึกว่า  พระเจ้าตรัสว่า “จงมีความสว่างบนฟ้า เมื่อแยกวันออกจากคืน  ให้ดวงสว่างเป็นหมายกำหนด ฤดู วัน ปี และให้เป็นดวงสว่างบนฟ้า เพื่อส่องสว่างบนแผ่นดินก็เป็นดังนั้น (ปฐมกาล 1:14-14)

บทลงท้าย
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แท้จริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกับเรื่องของพระคัมภีร์ เพียงแต่ว่าความเข้าใจของยุคสมัยและการมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้มีอำนาจนั้นต่างหากที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลง  ขอเพียงแต่เราเปิดใจออกให้กว้างสักนิด  คิดแบบปรนัยคือ ให้ข้อพิสูจน์จากฝ่ายวัตถุเป็นหลัก  ยกตัวอย่างเช่น  เราอาจขอร้องให้นักวิทยาศาสตร์ส่งดาวเทียมขึ้นไปถ่ายภาพของโลก ปรากฏว่าโลกที่ปรากฎในภาพมีรูปทรงกลม เราเชื่อตามภาพนั้น  ดังนั้นเราจึงสรุปว่าโลกกลม  โดยอาศัยหลักฐานจากโลก หรือวัตถุ  ใครจะคิดว่าโลกแบน  ก็คิดไป  แต่โลกในความเป็นจริง เป็นโลกกลม  ความจริงที่ได้เป็นความจริงแบบปรนัยที่ไม่เกี่ยวกับทัศนะส่วนตัวของใคร  ทีนี้ลองกับไปดูข้อพระคัมภีร์ที่กล่าวไว้ในตอนต้น  ก็สรุปได้สุดปลายข้างหนึ่งไปถึงปลายอีกข้างหนึ่งของโลกเรานั้นก็เดินทางเป็นเส้นตรง  แต่เป็นวิถีโค้งแล้วมาบรรจบกันเป็นวงกลมได้เหมือนกัน  ดังนั้นถ้าเราจะตีความพระคัมภีร์โดยเอาทัศนะของตัวเราเองเป็นหลัก  เรื่องก็จะออกมาเป็นวงแคบ ๆ และอาจจะครอบงำผู้อื่นได้ถ้าท่านเป็นผู้นำความคิด  แต่ถ้าตีความจากพระคัมภีร์โดยเราต้องการจะค้นหาความหมายทีผู้เขียนต้องการจะบอกก็จะเป็นประโยชน์แก่เราเอง และผู้อื่นด้วย  ผมหวังว่าพี่น้องที่เคยถามปัญหานี้ที่ว่า “โลกเรานี้กลมหรือแบน  มีข้อพระคัมภีร์สนับสนุนหรือเปล่า?”  ก็คงจะเข้าใจมากขึ้นนะครับ

บทความจาก "เรียนรู้อดีต ลิขิตอนาคต" (มิถุนายน 1999) โดย อ.อภิรักษ์ สอนพรินทร์