ค้นหาข้อมูลจากบล็อกนี้

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สรุป ข้อดี-ข้อด้อย ของประวัติศาสตร์คริสตจักรทั้ง 7 ยุค

บทความโดย โดย มณฑล  อภิชัยภุมริน
รายงานจากวิชา ประวัติศาสตร์คริสตศาสนาสากล


          ทุกครั้งที่เรียนประวัติศาสตร์ข้าพเจ้ามักเตรียมใจ สำหรับความไม่อิ่มในความรู้ประวัติศาสตร์ที่ได้รับ กล่าวคือเราได้รู้เรื่องราว เหตุการณ์นั้นๆ เท่าที่มีบันทึกไว้หนังสือ อีกประการหนึ่งคือการยอมรับในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เราชอบหรือไม่ชอบ คนที่ดีหรือคนที่เลว เพราะเรากำลังเรียนสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีตกาล ซึ่งไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ชีวิตของเรามีแต่เดินหน้าและสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ต่อๆ ไป ทุกอย่างที่เราทำในวันนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในวันหน้า ซึ่งคนรุ่นต่อมาจะได้มาศึกษาต่อไป จึงควรใส่ใจวันนี้ในชีวิตเพื่อเราจะสร้างสิ่งดีงามและทรงคุณค่าเป็นแบบอย่าง เพื่อในหน้าประวัติศาสตร์นั้นจะปรากฏชื่อของเราในฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์

          ในประวัติศาสตร์คริสตจักรแต่ละยุค เราจะเห็นทั้งข้อดี-ข้อด้อย และทั้งสองก็เป็นประโยชน์ต่อคริสตจักรในยุคปัจจุบันด้วย เราเรียนข้อดีเพื่อเป็นแบบอย่างที่จะกระทำตามและเรียนรู้ข้อด้อยเพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในชีวิตการรับใช้ของเรา ดังที่มีคนกล่าวกันว่า “พึงระวังอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”

ยุคที่ 1: ค.ศ. 30-68  ยุคบุกเบิกคริสตจักร



ข้อดี: แห่งยุคบุกเบิกคริสตจักร
           คริสเตียนทุกคนเป็นมิชชันนารี : สตีเฟน นีลส์ ได้กล่าวไว้ใน A history of Christian missions ว่า “คริสเตียนทุกคนเป็นพยาน” และ “ไม่มีสิ่งใดน่ากล่าวขานมากไปกว่าความนิรนามของมิชชันนารียุคแรกเหล่านี้” เราเห็นความจริงนี้ในพระธรรมกิจการว่า การประกาศพระคริสต์ถูกส่งออกไปจากฆราวาสที่รักพระเจ้าอย่างสุดหัวใจ เช่น ฟิลิป ประกาศกับขันทีชาวเอธิโอเปีย(กิจการ 8.28-40), ปริสสิลลา-อาควิลลา (กิจการ 18.24-28) และคนอื่นๆอีกมากมาย คริสตชนในยุคนี้ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่า “ผู้คว่ำโลก” เพราะด้วยพวกเขาเองได้ประกาศข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสต์ออกไปนอกเขตแดนปาเลนไตน์ ประกาศพระกิตติคุณทางทิศตะวันตกไปไกลถึงกรุงโรม ส่วนทางตะวันออกประกาศพระกิตติคุณเกือบทุกเมืองในจักรวรรดิ หัวใจแห่งมิชชันนารีถูกใส่ลงในใจของบรรพชนเหล่านี้อย่างเต็มล้น พวกเขาใช้อาชีพของตนเองเป็นช่องทางในการประกาศข่าวประเสริฐ เปิดบ้านของตนเองเป็นศูนย์กลางการนมัสการ การประกาศและการสร้างสาวก เดินทางไปถึงที่ไหนประกาศข่าวประเสริฐที่นั่น กระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความเชื่อให้ผู้อื่น
         ข้าพเจ้าเคยมองว่าทุกวันนี้แค่เราประกาศนำคนเชื่อ และให้เขามานมัสการในคริสตจักรสม่ำเสมอ สละเวลา เงินทองบ้างเพื่อพระเจ้านั้นยังยากลำบากเหลือเกิน จากประวัติศาสตร์ข้าพเจ้าต้องคิดใหม่อีกครั้ง และรับการท้าทายจากพระเจ้าไม่เพียงสร้างสาวกเท่านั้น เรายังต้องส่งและใส่หัวใจมิชชั่นให้พี่น้องในคริสตจักรอย่างจริงจังเสียที
          อัครทูตเปาโล : รูธ เอ ทัคเกอร์ ได้กล่าวไว้ใน “จากเยรูซาเล็มสู่ปลายแผ่นดินโลก” หน้า 31 ว่า “เราสามารถกล่าวได้ว่า งานมิชชั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจะสำเร็จหรือล้มเหลว ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการที่งานนั้นได้ถูกทำตามหรือทำแตกต่างไปจากแบบอย่างที่เป็นในส่วนการปฏิบัติส่วนตัวและในส่วนแนวทางโดยทั่วไปที่เปาโลได้วางไว้” เราจึงกล่าวได้ว่าเปาโลเป็นมิชชันนารีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งก่อตั้งคริสตจักรขึ้นอย่างรวดเร็ว มั่นคงในสี่มณฑลของจักรวรรดิโรมัน กาลาเทีย มาซิโดเนีย อาคายา และเอเชีย โดยใช้เวลาเพียงแค่สิบปีกว่าเท่านั้น อาจเป็นความจริงที่มิชชันนารียุคต่อมาได้นำคนกลับใจมาเชื่อพระเจ้ามากกว่าที่เปาโลได้ทำไว้ แต่พวกเขาล้วนแล้วทำพันธกิจบนฐานที่เปาโลได้วางไว้แล้วทั้งสิ้น อีกประการหนึ่งไม่มีใครเลยที่สามารถก่อตั้งคริสตจักรได้เหมือนอย่างที่เปาโลทำ
          ข้าพเจ้าได้เรียนแบบอย่างของเปาโลอย่างมาก ทั้งในแง่วิธีการประกาศข่าวประเสริฐ วิธีการทำงาน รวมทั้งรับกำลังใจทุกครั้งเสมอไปเมื่ออ่านเรื่องราวการทนทุกข์ที่ท่านพบ บทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อข้าพเจ้ามากคือการเรียนรู้บทเรียนผ่านปฏิกิริยาที่เปาโลจัดการต่อปัญหาอันยุ่งยากและสลับซับซ้อนในคริสตจักร


           ถนน : ชาวโรมันได้สร้างถนนหนทางอย่างดีในศตวรรษต่อๆมาหลังสมัยพระเยซูคริสต์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเดินทางสัญจรของผู้คนรวมทั้งของมิชชันนารีผู้ประกาศข่าวประเสริฐด้วย ที่สามารถเดินทางไปทั่วจักรวรรดิโรมันเพื่อประกาศข่าวประเสริฐอย่างทั่วถึง
          ภาษากรีก : ภาษากรีกเป็นภาษาสากลที่ใช้ในจักรวรรดิโรมัน ทำให้มิชชันนารี ผู้ประกาศข่าวประเสริฐในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาต่างๆเป็นจำนวนมากเหมือนมิชชันนารีสมัยต่อมา

          ธรรมศาลา : ในพระธรรมกิจการได้กล่าวไว้หลายครั้งว่า การประกาศ การเทศนา พระกิตติคุณถูกกระทำในธรรมศาลาตามเมืองต่างๆ เป็นสถานที่สาธารณะที่เปิดให้มีการเผยแพร่ความเชื่อของคริสเตียนไปทั่วจักรวรรดิโรมัน ดังนั้นธรรมศาลาจึงเป็นข้อดีประการหนึ่งที่ปูทางให้แก่การเป็นพยาน การประกาศพระกิตติคุณของมิชชันนารีและผู้ประกาศในยุคแรกๆ 

ข้อด้อย: แห่งยุคบุกเบิกคริสตจักร
          ศาสนาคริสต์ผูกติดอยู่กับศาสนายิว : คริสเตียนกลุ่มแรกๆ คือกลุ่มคนยิว ที่มีความเชื่อในขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อในธรรมบัญญัติอย่างฝังรากมาก่อน เมื่อกลับใจมาเชื่อพระเจ้าพวกเขาจึงเชื่อพระเยซูคริสต์และขณะเดียวกันก็ยังกระทำตามคำสอนในธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด ปัญหานี้ไม่น่าเป็นปัญหาหากคริสเตียนยิวไม่เอาธรรมบัญญัติในมือตัวเองไปวางไว้บนบ่าของคริสเตียนต่างชาติ กล่าวคือไปกดดันให้คริสเตียนเข้าสุหนัต งดการกินการดื่มตามปกติที่เคยกระทำมา การถือวันสำคัญตามปฏิทินของยิว ในที่สุดเกิดความตึงเครียด ความขัดแย้ง ระหว่างคริสเตียนยิวและคริสเตียนต่างชาติในคริสตจักร จน อ.เปาโลต้องเขียนจดหมายฝากหลายเล่มเพื่อจัดการข้อพิพาทและตอบโต้คำสอนผิดๆเหล่านี้ เช่น 1-2 โครินธิ์, กาลาเทียฯ 
          แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็มองอีกแง่หนึ่งว่า ในข้อด้อยก็ยังมีข้อดีบางประการ ไม่ได้เป็นข้อด้อยไปทั้งหมดโดยหาข้อดีไม่ได้เลย หนึ่งในข้อดีจากข้อด้อยคือ ทำให้เกิดจดหมายฝากที่เราสามารถใช้อ้างอิงหักล้างความเชื่อของกลุ่มคริสเตียนที่นิยมยิวอย่างสุดโต่งได้ อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างคริสเตียนยิวและคริสเตียนต่างชาติได้ทำให้เกิดหลักข้อเชื่อที่ทำให้คริสเตียนแยกตัวจากการผูกติดอยู่กับศาสนายิวมาอย่างยาวนาน
          การข่มเหงในคริสตจักรยุคแรก : พระเยซูถูกเหล่าผู้นำทางศาสนากดขี่ข่มเหง จนถูกตรึงบนไม้กางเขนอย่างไร เมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรค์แล้ว บรรดาศิษย์ของพระองค์ต่างก็เผชิญกับผู้นำทางศาสนาเหล่านี้ไม่แตกต่างกัน ผู้เชื่อคนแรกที่ต้องพลีชีพคือสเทเฟน ต่อมาการข่มเหงได้ขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งทางการเริ่มเข้าประหัตประหารอัครทูตบางคน เช่น ยากอบ เปโตร และเปาโล จากการข่มเหงในกรุงเยรูซาเล็มทำให้คริสเตียนที่รวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นกระจัดกระจายออกไปตามที่ต่างๆ เหลือไว้เพียงอัครทูตชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั่วไป
          เราอาจมองว่าการข่มเหงที่สังหารอัครทูตระดับผู้นำ เป็นการสูญเสียผู้นำหลัก นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมมาสู่คริสตจักรยุคแรก แต่ในเงามืดแห่งการข่มเหงพระเจ้ากลับให้มีข้อดีเกิดขึ้นจากข้อด้อยนี้ ดังนี้ การข่มเหงทำให้สาวกกระจัดกระจายกันออกไปคนละทิศละทาง เกิดการเผยแพร่พระกิตติคุณ ไม่ให้กระจุกตัวอยู่แต่ในเยรูซาเล็ม และนี่เป็นเหตุทำให้เกิดการประกาศในยูเดียและสะมาเรีย ข้อดีในข้อด้อยประการต่อมา เหล่าอัครทูตได้วางรากฐานการพลีชีพเพื่อความเชื่อให้คริสเตียนรุ่นถัดไปเลียนแบบอย่าง ไม่ยอมปฏิเสธพระคริสต์แม้ต้องเผชิญกับคมหอกคมดาบ เพราะเมื่อสิ้นอัครทูตการข่มเหงจะยิ่งหนักและรุนแรงมากขึ้น ตามประวัติศาสตร์บรรพชนคริสเตียนเหล่านี้เอาชนะความกลัวตาย เขี้ยวเล็บสัตว์ป่า การทรมานอย่างหนักมาได้ ส่วนหนึ่งนั้นข้าพเจ้ามองว่า เพราะพวกเขาได้รับแบบอย่างเหล่านี้มาจากอัครทูตนั่นเอง  

ยุคที่ 2: ค.ศ. 68-313  ยุคข่มเหง



ข้อด้อยและข้อดี: แห่งยุคข่มเหง – ยุคแห่งการข่มเหงนี้ข้าพเจ้าได้รวมทั้งข้อด้อยและข้อดีอยู่ในหัวข้อเดียวกัน โดยพูดถึงข้อด้อยก่อนแล้วค่อยพูดถึงข้อดีจากข้อด้อย เพราะมองว่าในข้อด้อยของยุคนี้กลับเกิดข้อดีผลดีต่อคริสตจักรอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
           การข่มเหง : นับได้ว่านี่เป็นยุคที่คริสเตียนตายเพื่อความเชื่อมากที่สุดและเกิดผลมากที่สุดเช่นเดียวกัน ดังที่ เทอร์ทูเลี่ยนได้กล่าวไว้ว่า “โลหิตของบรรดาผู้ที่ยอมสละชีวิตเพื่อพระคริสต์เป็นดั่งเมล็ดพืชที่ทำให้คริสตจักรงอกทวีขึ้น” เมื่อหนึ่งคริสเตียนตายจะมีหนึ่งร้อย หนึ่งพันคริสเตียนเกิดใหม่ ยิ่งประหัตประหารยิ่งเพิ่มพูนจำนวนทวีคูณ ความจริงนี้แม้แต่ พลินนี ผู้ว่าราชการของเอเชียไมเนอร์ยังตระหนกตกใจ เขาสั่งให้ฆ่าคริสเตียนหลายคนแต่ปรากฏว่าคริสเตียนกลับยิ่งทวีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถึงขนาดอดใจไม่ไหวจนส่งคนไปสอดแนมการประชุมนมัสการของคริสเตียนในตอนเช้าตรู่ (จาก หนังสือขบวนการนิรันดร์ โดย David Pawson หน้า 26) การข่มเหงอย่างหนักหน่วงรุนแรงนี้ได้ประหัตประหารชีวิตวีรบุรุษ วีรสตรีแห่งความเชื่อจำนวนมากมาย เช่น โพลีคาร์ป เพอร์เพทัวร์ ทาสหญิงแบลนดินา อิกเนเชียสฯ คริสเตียนที่เป็นข้าราชการถูกปลดออกจากตำแหน่ง มีการเผาทำลายพระคัมภีร์ เผาอาคารของคริสตจักร
          ช่วงแรกที่ข้าพเจ้าศึกษาประวัติศาสตร์คริสตจักรได้ตั้งคำถามต่อพระเจ้าว่า “ทำไมพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดจึงปล่อยให้บรรดาผู้จงรักภักดีนับล้านๆต้องตายอย่างน่าสมเพชเวทนา แล้วเราจะพูดได้อย่างไรว่าพระเจ้ายิ่งใหญ่” ข้าพเจ้าขมขื่นใจและเฝ้าเพียรถามพระเจ้าอยู่เรื่อยมา จนในที่สุดพระเจ้าให้คำตอบเป็นการส่วนตัวว่าให้ข้าพเจ้าตั้งคำถามใหม่ คำถามใหม่นี้นำความชื่นบานมาสู่ใจเป็นอย่างมาก คือ “ทำไมคนจำนวนมากมายนับล้านๆคนจึงยอมพลีชีพของตน ไม่กลัวไฟ สัตว์ร้ายฉีกทึ้ง คมมีดคมดาบ เพื่อปกป้องความเชื่อและไม่ยอมปฏิเสธพระเยซูคริสต์แม้ต้องตาย”



          การฆ่าทำลายล้างคริสเตียน ด้วยการจุดไฟเผา ให้ต่อสู้กับสัตว์ป่าจนตายและอื่นๆ เป็นความทารุณโหดร้ายเกินกว่าจะยอมรับได้ หน้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้ถูกละเลงไปด้วยเลือด ใครอ่านประวัติศาสตร์ย่อมรู้สึกขนลุกพองสยองเกล้าอย่างมาก แต่ในข้อด้อยเหล่านี้กลับมีข้อดีอย่างมากมายต่อคริสตจักร ต่อการประกาศข่าวประเสริฐ ยุคนี้เป็นยุคที่ไม่มีการประกาศใหญ่ แต่กลับเป็นยุคที่เฟื่องฟูมากที่สุดคริสตจักรเต็มล้นทั้งจำนวนคริสเตียนที่มากขึ้นขณะเดียวกันเป็นคริสเตียนที่มีคุณภาพฝ่ายวิญญาณอย่างสูงด้วย เป็นไปได้อย่างไร? ข้าพเจ้าเห็นว่าการข่มเหงเป็นเหมือนไฟที่ชำระคริสตจักรให้บริสุทธิ์ แกลบ บุคคลที่นับถือพระเยซูเพียงเปลือกนอกถูกฝัดร่อนทิ้งไป เหลือแต่เมล็ดข้าวสมบูรณ์ที่พร้อมตายและเปื่อยเน่าลงในดินเพื่อให้เกิดรวงข้าวอีกจำนวนมากมาย ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีผู้เชื่อใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมายเป็นเพราะความตายของคริสเตียนเป็นการประกาศที่ทรงอำนาจที่สุด ดังที่นีลล์ ได้กล่าวไว้ว่า “มีหลักฐานว่าพวกที่ไม่เชื่อพระเจ้าจำนวนมากกลับใจในนาทีที่มีการตัดสินประหารชีวิตคริสเตียน” กล่าวคือ ความตายอย่างกล้าหาญของคริสเตียนที่ไร้เดียงสา อ่อนแอ เปราะบาง บ้างก็เป็นผู้หญิง บ้างก็เป็นเด็ก ย่อมเป็นภาพที่ผู้ไม่เชื่อพระเจ้าสะเทือนอารมณ์จนไม่อาจมองข้ามไปได้โดยไม่คิดใคร่ครวญ เมื่อชีวิตของพวกเขาตายเปื่อยเน่าได้ก่อเกิดเมล็ดข้าวอีกจำนวนมากมายจริงๆ
          หลายครั้งทีเดียวที่ข้าพเจ้าได้ยินคริสเตียนในประเทศไทยอธิษฐานขอบคุณพระเจ้า ที่ทรงประทานเสรีภาพอย่างไม่จำกัดในการประกาศ การนมัสการ การอธิษฐาน ขณะนั้นอดไม่ได้ที่จะแย้งในใจว่า เรามีเสรีภาพเต็มล้นในการประกาศที่เรายังไม่ยอมทำเลย มีเสรีภาพในการนมัสการที่เรายังขาดการนมัสการ ไม่อยากนมัสการ มีเสรีภาพในการอธิษฐานอย่างเต็มล้น แต่กลับต้องเห็นกลุ่มอธิษฐานในคริสตจักรมีเพียง 2-5 คน ณ ความรู้สึกตอนนั้นข้าพเจ้าอยากอธิษฐานดังๆว่า “ข้าแต่พระเจ้าขอส่งการข่มเหงมาเถิด”  ไม่ได้อยากเห็นเลือดไหลนองประเทศไทยแต่ต้องการเห็นความบริสุทธิ์กลับคืนสู่คริสตจักร ต้องการเห็นจำนวนคริสเตียนมากมายที่คับแน่นด้วยคุณภาพฝ่ายวิญญาณ ต้องการชีวิตชีวาฝ่ายวิญญาณไม่ใช่แห้งเหี่ยวเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้วข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า พระเจ้าอาจอนุญาตให้คำอธิษฐานในใจข้าพเจ้าเกิดขึ้นจริง
          สงครามฝ่ายสติปัญญา : นี่ไม่ใช่การต่อสู้ทางกายที่มาจากบุคคลภายนอก แต่เป็นสงครามที่มาจากภายในคริสตจักร เป็นสงครามที่ต่อสู้กันด้วยน้ำหมึกและปลายปากกา เป็นการต่อสู้กับคำสอนผิดๆของปรัชญากรีก ลัทธินอสติก (Gnosticism) ที่สอนว่าวิญญาณเป็นสิ่งดีแต่วัตถุเป็นสิ่งชั่วร้ายทั้งหมด อีกทั้งปฏิเสธความเป็นมนุษย์แท้ของพระเยซูคริสต์ ลัทธิแอ็กนอสติก (Agnostic) พวกนี้เชื่อว่าไม่มีใครรู้อะไรจริงโดยเฉพาะเรื่องพระเจ้าหรือนรกสวรรค์ อีกทั้งสงครามข่าวลือผิดๆที่มีเป้าหมายทำลายชื่อเสียงของคริสตชน เช่น กล่าวหาว่า คริสเตียนเป็นมนุษย์กินคน กินพระวรกายและดื่มพระโลหิต โจมตีการเลี้ยงฉลองด้วยความรักว่าเป็นการร่วมเพศในคริสตจักร นอกจากนี้ยังมีลัทธิยิวที่พยายามนำพาคริสเตียนให้กลับไปอยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติ คำสอนผิดๆที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาในคริสตจักร นำคริสตชนจำนวนมากมายหลงไปจากความจริงแห่งพระวจนะของพระเจ้า 
          ข้อด้อยที่เราเห็นคือคำสอนผิดเหล่านี้เข้ามาในคริสตจักรโดยอ้างนามพระเยซูคริสต์ กล่าวถึงหลัก ศาสนศาสตร์แบบใหม่ ได้ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อคริสตจักร สร้างความแตกแยก นำคนให้หลงทางจากความจริง สร้างความยากลำบากอย่างมากต่อคริสตจักร แต่ในข้อด้อยเหล่านี้พระเจ้าทรงใช้ให้มีสิ่งดีมากมายเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน กล่าวคือมารซาตานใช้คำสอนผิดทำลายคริสตจักรแต่พระเจ้าเปลี่ยนให้เกิดสิ่งดี สิ่งที่ทรงคุณค่าต่อคริสตจักร ดังนี้
          1) เพราะมีเหตุว่าได้เกิดมีคนปลอมแปลงข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสต์ รวมทั้งปลอมแปลงจดหมายฝากของเปาโล จึงมีการจัดรวมเล่มหนังสือทุกเล่มที่อัครทูตยอมรับเข้าด้วยกัน การรวบรวมหนังสือเหล่านี้ได้ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยในปี ค.ศ.200 ซึ่งหนังสือพันธสัญญาใหม่เหล่านี้เป็นอาวุธหลักในการต่อสู้กับคำสอนผิดๆจนได้ชัยชนะในที่สุด (David Powson ขบวนการนิรันดร์ หน้า 21)
          2) มีการประกาศหลักข้อเชื่ออย่างชัดเจน  เพื่อยืนหยัดต่อต้านคำสอนผิดๆของลัทธินอสติก เพื่อยืนยันความเป็นพระเจ้าและความเป็นมนุษย์แท้ของพระเยซูคริสต์ การเสด็จมาบังเกิด การสิ้นพระชนม์ การคืนพระชนม์ 

ยุคที่ 3: ค.ศ. 313-606  ยุคแห่งการสนับสนุน


ข้อดีและข้อด้อย: แห่งยุคสนับสนุน - ขณะที่ยุคที่ 2 มีข้อดีเกิดขึ้นจากข้อด้อย แต่ในยุคที่ 3  ยุคแห่งการสนับสนุนนี้ ข้าพเจ้ากลับวิเคราะห์ว่า ในข้อดีต่างๆกลับมีข้อด้อยที่ส่งผลกระทบเสียหายต่อคริสตจักรเป็นอย่างมาก
          การประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ : ค.ศ. 313-315 จักรพรรดิคอนแสตนตินได้ออกกฤษฎีกามิลาน อนุญาตให้มีการนับถือศาสนาอย่างอิสระประกาศให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาประจำชาติ อีกทั้งพระองค์เองได้หันมาเป็นคริสเตียนและไปคริสตจักร สนับสนุนให้มีการประชุมสมัชชาไนเซีย ครั้งที่ 1 เพื่อวางหลักข้อเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพระหว่างพระเจ้าพระบิดากับพระเจ้าพระบุตรว่าแม้เป็นคนละบุคคล แต่มีสถานะเป็นพระเจ้าเหมือนกัน ยังมีการบัญญัติหลักข้อเชื่ออัครทูต (The Apostle’s creed) อีกทั้งทรงนำศาสนามาใช้ในการปกครองผู้คน เปลี่ยนแปลงวิธีการและรูปแบบและพิธีกรรมของอาณาจักรให้สอดคล้องกับความเชื่อของศาสนาคริสต์ และนำให้ประชาชนหันมานับถือคริสต์ศาสนาแทนการบูชาพระอาทิตย์
           เมื่อมีการสนับสนุนจากรัฐบาลการข่มเหงฝ่ายกายได้หยุดลง ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาที่มีเกียรติเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม คริสเตียนไม่ต้องหลบๆซ่อนๆอีกต่อไป ไม่มีคริสเตียนใต้ดินเพราะมีกฏหมายรับรองถูกต้อง นับได้ว่าเป็นยุคในฝันแห่งเสรีภาพ ความปลอดภัย และสันติสุขอย่างแท้จริง คริสตจักรต่างๆมีความคล่องตัวในการดำเนินพันธกิจต่างๆเพราะมีการสนับสนุนที่ดี มีแหล่งการเงินที่เข้มแข็งเพราะมีข้าราชการ คนที่มั่งคั่งมากมายมานมัสการ และถวายทรัพย์ให้คริสตจักร
          ส่วนตัวมองว่ายุคนี้ดูเหมือนดีแต่นี่คือหายนะชัดๆ ด้วยสภาพเช่นนี้คริสตจักรจะถดถอยและตายฝ่ายวิญญาณในที่สุด เพราะ ความเชื่อของคริสเตียนไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเชื่อแต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์และหน้าตาทางสังคม การเป็นคริสเตียนเป็นแฟชั่นที่นิยมอย่างแพร่หลายตามอย่างจักรพรรดิของตนเอง ซึ่งลักษณะคริสเตียนเช่นว่านี้ไม่เคยปรากฎในพระคัมภีร์ใหม่หรือในประวัติศาสตร์ยุคข่มเหงเลย คริสตจักรจะถอยหลังลงคลองจากจุดนี้ การดำเนินชีวิตคริสเตียนที่มีชัยชนะและชีวิตชีวาเริ่มอ่อนแรงลงจนดับไปในที่สุด ดังที่ รูธ เอทักเกอร์ ได้กล่าวไว้ใน หนังสือสุดปลายแผ่นดินโลก หน้า 27 ว่า “ในช่วงของจักรพรรดิคอนแสตนติน ศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นศาสนาของรัฐ ผลที่ตามมาคือ คริสเตียนแต่ในนามซึ่งสนใจเรื่องจิตวิญญาณน้อยกว่าศักดิ์ศรีและเกียรติทางการเมืองและสังคมได้ไหลทะลักเข้ามาในคริสตจักร คริสต์ศาสนาได้กลายเป็นแฟชั่น การนมัสการในอาคารคริสตจักรที่มีโครงสร้างอันสวยงามประณีตได้มาแทนที่การมีคริสตจักรที่ประชุมตามบ้านแบบพื้นๆ และการท่องหลักข้อเชื่อต่างๆ มาแทนที่การกล่าวคำพยานและการอธิษฐานที่ออกมาจากใจ” 
          การสนับสนุนจากรัฐยังนำมาซึ่งการประนีประนอมกับค่านิยมของโลก และการรอมชอมยอมรับศาสนาโบราณมาปะปนกับความเชื่อของคริสตศาสนา คริสตจักรจึงเหมือนแต่งงานกับโลก ไม่ได้แยกตัวเองออกมาตามน้ำพระทัยของพระเยซู


          การสนับสนุนการประกาศพระกิตติคุณจากรัฐบาล : รัฐบาลให้การสนับสนุนแก่การทำงานของนักเผยแพร่ศาสนาอย่างแข็งขัน เช่น มาร์ทีน บิชอปแห่งตูส์ ได้ประกาศพระกิตติคุณทั่วชนบทของฝรั่งเศส การประกาศพระกิตติคุณได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการส่งมิชชั่นจากกลุ่มต่างๆ จนแม้แต่สันตะปาปายังส่งมิชชั่นออกไปด้วย และเพื่อสนับสนุนการประกาศเริ่มมีการออกกฎต่างๆเพื่อให้คนมาเชื่อพระเจ้า มีการทำลายศาสนสถานของศาสนอื่นๆ โดยเอาไปเอามากลับเป็นว่าการทำลายศาสนสถานต่างๆของศาสนาอื่นๆ มีกลุ่มบาทหลวง ผู้รับใช้เป็นผู้กระทำอย่างโดดเด่นที่สุด 
          การสนับสนุนจากรัฐอาจนำมาซึ่งความสะดวกในการเผยแพร่พระกิตติคุณ มีกำลังเงินกำลังคนในการส่งมิชชั่น มีกฎหมายคอยสนับสนุน แม้ใช้ความรุนแรงก็มีกฎหมายรับรอง มีคนมาเชื่อพระเจ้าจำนวนมากมายแต่ในข้อดีทั้งหมดเหล่านี้กลับมีความชั่วร้ายแอบแฝง ซึ่งนับว่าเป็นความน่าเกลียดชัง ความน่าซื่อใจคด ซึ่งในระยะยาวได้ก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ดังนี้ 
          การประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณไม่ได้เป็นเป้าหมายหลัก แต่มีวาระแอบแฝงเป็นการกระทำเพื่อเสถียรภาพของจักรวรรดิโรมัน โดยคาดหวังว่าการนำอนารยชนกลับใจมาเชื่อพระคริสต์จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้หันมาโจมตี อีกทั้งการประกาศยังทำให้ยุโรปยอมรับระบบของโรมันง่ายขึ้น 
          การประกาศแบบนี้รังแต่จะเพิ่มคริสเตียนแต่ในนามมากขึ้นเท่านั้น ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า มีคนจำนวนมากมายเข้าสู่คริสตจักรโดยไม่ได้มีความเชื่ออย่างจริงใจ ซึ่งนั่นก็ทำให้คริสตจักรไม่อาจมีคำพยานที่เข้มแข็ง สูญเสียรากฐานการอุทิศตัว คริสเตียนรู้จักแต่ประเพณีแต่ไม่หยั่งรากในพระวจนะ เป็นภาพที่น่าเศร้าเมื่อคริสตจักรได้เปลี่ยนแปรสภาพเป็นเพียงองค์การหนึ่งเท่านั้น 

ยุคที่ 4 : ค.ศ. 606-1517 ยุคมืดและยุคกลาง


ข้อด้อยและข้อดี: แห่งยุคยุคมืดและยุคกลาง 
          การกำเนิดของมุสลิม : มูฮัมหมัด เกิดในปี ค.ศ. 570 ตัวเขาเป็นคนเกลียดชังและสะอิดสะเอียนการกราบไหว้รูปเคารพกับการถือโชคลางมาก ในประวัติศาสตร์บอกว่าเขาจึงหันไปหาพวกยิวและคริสเตียนเพื่อแสวงหาศาสนาที่แท้จริง แต่น่าสลดใจเขาไม่มีโอกาสได้พบคริสเตียนแท้ๆสักคนเดียว ไม่ได้พบชีวิตคริสเตียนอย่างที่ปรากฏในพระคัมภีร์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงหันหลังให้คริสต์ศาสนาและแสวงหาศาสนาใหม่ที่บริสุทธิ์ และได้รับนิมิตเรื่องพระอัลเลาะห์และตัวเขาเป็นผู้เผยพระวจนะของพระองค์ จนในที่สุดเขาได้บันทึกนิมิตลงในคัมภีร์อัลกุรอาน ใช้กำลังบังคับให้ผู้คนถือศาสนาใหม่ พร้อมกันนี้ มูฮัมหมัด ยังได้กวาดล้างคริสเตียนออกไปจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็ม ตลอดทั่วสเปนและเอเชียไมเนอร์ โอบล้อมและทำลายคริสต์ศาสนาไปจนถึงฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
          คริสตศาสนาถูกบดขยี้และโจมตีอย่างหนักในช่วงนี้ ขณะที่มุสลิมกลับขยายกว้างขวางและกินแดนมากขึ้นไปทุกที จนกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับคริสเตียน ที่ก่อสงครามศาสนารบพุ่งแย่งชิงดินแดน โดยเฉพาะ ค.ศ. 1095 สงครามครูเสดได้อุบัติขึ้นทำให้มีผู้คนมากมายล้มหายตายจากไป
           มีคนบอกว่าศาสนามุสลิมไม่น่าก่อเกิดมาเลย มารซาตานส่งมาเพื่อทำลายคริสต์ศาสนาชัดๆ แต่ข้าพเจ้ากลับมองตรงข้ามว่า มุสลิมเป็นเหมือนการลงโทษที่พระเจ้าอนุญาตให้เกิดขึ้น เพื่อทำลายความจอมปลอม ความชั่วร้าย ที่เกิดขึ้นในคริสตจักร เป็นไฟอีกระลอกหนึ่งเพื่อชำระคริสตจักรของพระองค์ที่ถูกกระทำให้แปดเปื้อนมลทินอย่างเลวร้ายจากกลุ่มคนที่อ้างตัวเป็นผู้ทรงศีล ยุคแห่งความมืดมิดนี้เป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งของพระเจ้าแล้ว ที่จะพิพากษากวาดล้างทำความสะอาดบ้านของพระองค์ให้กลับมาบริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง และนั่นหมายความว่ามุสลิมเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมที่พระเจ้าจะใช้เพื่อนำคริสตจักรให้เดินในทางที่ถูกต้อง
          ก่อนการกำเนิดศาสนามุสลิมคริสต์ศาสนาไม่เคยมีคู่แข่งเลย ศาสนามุสลิมจึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่พระเจ้าใช้ เพื่อกระตุ้นให้คริสตจักรกระตือรือร้นในการเผยแพร่พระกิตติคุณให้มากขึ้นอีก คริสเตียนไม่สามารถจะอยู่เฉยได้อีกต่อไป ต้องรีบเร่งทุ่มเทเอาจริงเอาจังในการประกาศ ในการส่งมิชชั่น เพื่อช่วงชิงพื้นที่มาเป็นฝ่ายของตนให้มากกว่า ความกระตือรือร้นของคริสต์ศาสนาพุ่งถึงขนาดที่มีมิชชันนารีมีแนวคิดและเริ่มทำพันธกิจสู่ชาวมุสลิมในแอฟริกาเหนือ เพื่อสกัดกั้นการรุกล้ำของมุสลิมไว้และเพื่อนำคริสต์ศาสนาเข้าสู่ รัสเซีย เอเชียกลาง อินเดียและตะวันออก เช่น เรย์มอน ลัลล์ (Raymond Lull) และฟรานซิส 

          สงครามครูเสด : สงครามครูเสดมีรากเหง้าที่เป็นสาเหตุมาจาก 3 ประการนี้
         1) ความต้องการในการกอบกู้สถานที่ต่างๆ ในปาเลสไตน์คืนจากมุสลิมมาสู่มือของคริสเตียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเยรูซาเล็มซึ่งคริสเตียนถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
         2) จักรวรรดิบายเซนไทน์ได้ขอความช่วยเหลือมายังสันตะปาปา เพื่อให้ช่วยปกป้องจากมุสลิมเตริก์ที่เป็นอันตรายต่อสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของคริสเตียน
         3) ความต้องการของสันตะปาปาที่ต้องการเยียวยาความแตกร้าว ระหว่างคริสตจักรคาทอลิกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเกิดจากความอ่อนแอของสันตะปาปาในยุคที่อำนาจเสื่อมถอย โดยคาดหวังว่าสงครามจะรวมความเป็นหนึ่งเดียวกันให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
          สงครามครูเสดดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 400 ปี สันตะปาปาใช้ความศรัทธาในพระเจ้าเป็นเครื่องมือเพื่อให้ความทะเยอทะยานของตนสำเร็จ สงครามครูเสดทั้ง 9 ครั้ง เริ่มต้นอย่างบ้าคลั่งและจบลงด้วยความน่าเศร้าเสมอ โดยเฉพาะสงครามครูเสดเด็ก ใน ปี 1212 ที่จบลงด้วยเด็กหนุ่มจำนวนมากมายถูกขายไปเป็นทาสในอียิปต์
          สงครามครูเสดเป็นรอยด่าง เป็นมลทินของคริสตศาสนาในประวัติศาสตร์ที่ยังฟ้องร้องต่อคนในทุกยุคทุกสมัย ในประวัติศาสตร์ปรากฏว่าแทนที่สงครามครูเสดจะเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างคริสตจักรคาทอลิกตะวันตกและคริสตจักรคาทอลิกตะวันออก มันกลับเป็นเครื่องมือที่ถ่างช่องว่างแห่งความเกลียดชังให้มีมากขึ้นกว่าเดิม  อีกทั้งได้ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคริสเตียนกับมุสลิม ทำให้การประกาศท่ามกลางพวกเขาทำได้ยากยิ่งขึ้น ตลอดทั้งสงครามครูเสดได้สร้างความเสื่อมเสียเกียรติให้พระนามของพระเจ้า และเป็นช่องที่ทำให้คนอื่นมองคริสต์ศาสนาผิดเพี้ยนจากความจริงที่ควรจะเป็น ศาสนาคริสต์เป็นความบ้าคลั่งอย่างหนึ่งที่นำหน้าความเชื่อด้วยสงคราม 
         ในความบกพร่องและข้อด้อยที่มากมาย เรายังพอมองหาข้อดีได้บ้าง ซึ่งนับได้ว่าเป็นมรดกที่สงครามครูเสดได้ส่งผลกระทบผลเอาไว้ เช่น เกิดการกระตุ้นทางการค้าที่เริ่มขึ้นแล้วในอิตาลีให้เติบโตยิ่งขึ้น ยุโรปตะวันตกได้สัมผัสอารยธรรมของตะวันออก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เกิดการประดิษฐ์อักษรตัวเลขอาหรับ

ยุคที่ 5 : ค.ศ. 1517-1750 ยุคแห่งการปฏิรูปศาสนา


ข้อดี: ยุคแห่งการปฏิรูปศาสนา
          การปฏิรูปศาสนา : ในปี 1517 ใบล้างบาปถูกขายในทั่วแดนเยอรมัน โดยวิธีการโฆษณาชวนเชื่อ โดย เท็ทเซล (Tetzel) บาทหลวงคณะโดมินิกัน ซึ่งสอนว่าในทันทีที่เงินหย่อนลงในกล่อง ดวงวิญญาณของผู้ที่ถูกคุมขังก็จะถูกปล่อยจากแดนชำระ มีการป่าวประกาศด้วยว่าการขายใบล้างบาปนี้มีขึ้นเพื่อหาเงินสร้างวิหารเซนต์ ปีเตอร์ ทั้งที่ความจริงแล้วครึ่งหนึ่งของรายได้กลับนำไปชำระหนี้ที่อัลเบริท์ แห่งเบรนเดนบูรก์ (Albert of Brandenburg) ผู้มาจากตระกูลขุนนางโฮเฮนซอลลอร์น ได้สร้างไว้จากการกู้เงินไปซื้อตำแหน่งสังฆราชแห่งไมนซ์

          จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้ปลุกเร้า มาร์ติน ลูเธอร์ อย่างยิ่ง ในวันที่ 31 ตุลาคม 1517 ได้นำข้อเสนอ 95 ประการจากการวินิจฉัยของเขาไปปิดไว้บนประตูของพระวิหารในเมืองวิทเทนเบริก์ โดยกล่าวคัดค้านการขายบัตรล้างบาป ว่าบัตรล้างบาปไม่สามารถยกความบาปผิดออกไปได้ อีกทั้งบัตรล้างบาปยังเป็นการสร้างความรู้สึกมั่นคงที่จอมปลอม ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อจิตวิญญาณของผู้เชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ ยังได้คัดค้านการนำเงินไปใช้สร้างวิหารเซนต์ ปีเตอร์ เพราะเห็นว่าการกระทำนี้เป็นการปล้นคนเยอรมัน อีกทั้งสันตะปาปาเองก็มั่งคั่งพอที่สร้างวิหารนี้ได้เอง การปฏิรูปของ ลูเธอร์ ได้ก้าวไปไกลมากขึ้นเมื่อเขาประกาศว่าทั้งสันตะปาปาและสภาใหญ่ของคริสตจักรสามารถผิดพลาดได้ มีเพียงพระคัมภีร์เท่านั้นที่มีอำนาจสูงสุด
          มาร์ติน ลูเธอร์ ได้ชนะใจและมีคนคล้อยตามความคิดเห็นของเขามากขึ้นๆ ซึ่งมีบุคคลสำคัญๆ ด้วย เช่น มาติน บูเซอร์ (Martin Bucer) ฟิลิป มีลานซ์ธอน (Philip Melanchthon) ผู้ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรณรงค์ต่อสู้ของลูเธอร์ การปฏิรูปของลูเธอร์ได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากศาสนจักร ทั้งการขับออกจากศาสนจักร ทั้งการติดตามจับกุมตัวมาลงโทษ ซึ่งโดยพระคุณพระเจ้าก็ทำให้ท่านรอดพ้นจนกว่าจะทำงานในการปฏิรูปสำเร็จ ในไม่ช้า ลูเธอร์ และความเชื่อของเขาได้ส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อคริสตจักรในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะคำสอนเรื่องการเป็นผู้ชอบธรรมโดยความเชื่อกลายเป็นหลักคำสอนหลักของนิกายโปเตสแตนท์ เกิดการแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก อนุญาตและเชื่อว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิ์ในการอ่าน ในการตีความพระคัมภีร์ได้ด้วย และได้ยกพระคัมภีร์เป็นสิทธิอำนาจสูงสุดของคริสตจักร
          การปฏิรูปครั้งนี้นำแสงสว่างของพระเจ้ากลับมาสู่คริสตจักรอีกครั้งหนึ่ง คือ เกิดการแยกตัวของโปเตสแตนท์ออกมาจากคาทอลิก กลับมาสู่หลักการพื้นฐานบนพระวจนะของพระเจ้า ให้ความสำคัญสูงสุดต่อพระคัมภีร์ นำพระวจนะมาใช้อย่างตรงไปตรงมาจากการตีความหมายอย่างถูกต้อง เน้นย้ำและให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมต่อผู้เชื่อทุกคนในฐานะปุโรหิตของพระเจ้า ก่อเกิดหลักข้อเชื่อเรื่องพระคุณอย่างถูกต้อง โดยตระหนักว่าไม่มีใครสามารถทำดีเพื่อให้ได้รับความรอด ไม่ว่าจะโดยการประพฤติ การทำศาสนพิธี แต่โดยพระคุณที่ผ่านทางพระเยซูคริสต์เท่านั้นมนุษย์จึงเป็นที่ยอมรับในสายพระเนตรของพระเจ้า
          มีการก่อเกิดกลุ่มความเชื่อต่างๆที่ได้รับอิทธิพลจากคำสอนของลูเธอร์อย่างมากมาย ซึ่งนำสู่การปฏิรูปความเชื่อในประเทศต่างๆ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ อีกทั้งมีกลุ่มปฏิรูปใหม่ๆเกิดขึ้นตามมาจากอิทธิพลที่ลูเธอร์วางไว้ เช่น คริสตจักรรีฟอร์มและเพลสไบทีเรียน ที่นำโดย จอห์น แคลวิน กลุ่มนี้เน้นแยกตัวออกจากรัฐ ยึดมั่นในความรอดที่ได้รับมาโดยความเชื่อ นักปฏิรูปหัวรุนแรง(อนาแบพติสต์) นักปฏิรูปหัวรุนแรง (กลุ่มจิตศรัทธานิยมและกลุ่มมนุษยวาทเชิงเหตุผล) เกิดการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ เกิดการปฏิรูปท่ามกลางคาทอลิก
         แม้การปฏิรูปจะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ที่นำคริสเตียนกลับมาเดินบนทางที่ถูกต้อง แต่กระนั้นก็ตามเราก็ยังเห็นร่องรอยของผลเสียที่ส่งผลมาจนถึงสมัยนี้ด้วย กล่าวคือ การปฏิรูปได้ก่อให้เกิดกลุ่มความเชื่อจำนวนมากมาย ทำให้เกิดการตั้งนิกายต่างๆตามการตีความพระคัมภีร์ของตนเอง โดยไม่ยอมรับในนิกายที่คิดต่างจากกลุ่มของตนเอง ทำให้เกิดกลุ่มคณะนิกายต่างๆนับพันนิกาย ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของคริสตชนเลย ตลอดทั้งมีความขัดแย้ง การโจมตี กันและกัน ผลอันเลวร้ายนี้ได้หยั่งรากและทำให้เราเหน็ดเหนื่อยโดยใช่เหตุ

ข้อด้อย: ยุคแห่งการปฏิรูปศาสนา
         การประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ : เคนเนท สก๊อต ลาทัวเร็ทท ได้กล่าวในหนังสือ ประวัติศาสตร์ คริสเตียน (A History of Christianity หน้า 347) ว่า “ในยุคนี้คริสต์ศาสนาได้หวนกลับมาแพร่ขยายไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง พระกิตติคุณแพร่ขยายปักหลักหยั่งรากลงในประเทศจีน และแพร่เข้าไปในญี่ปุ่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ กินแดนไกลโพ้นเลยไซบีเรียจนถึงชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปยุโรปและเอเชีย ประกาศไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินดีสของตะวันออก ถึงศรีลังกาและอินเดีย ตลอดทั้งชายฝั่งของแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราก็มีชุมชนคริสเตียนกระจายอยู่ แม้แต่ในกรีนแลนด์คริสต์ศาสนาถูกนำกลับมาเป็นศาสนาหลักของอินดีสตะวันตก เมื่อย่างเข้าปี 1750 คริสต์ศาสนาได้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์” 
           การแพร่ขยายพระกิตติคุณอย่างกว้างขวางนี้เป็นผลมาจาก ประการแรก การประกาศของโรมันคาทอลิกโดยมีสเปนและโปรตุเกสเป็นผู้สนับสนุนเพื่อเดินทางสำรวจดินแดนใหม่ๆ ประการที่สอง การปฏิรูปของคาทอลิกเกิดขึ้นควบคู่กับการสำรวจดินแดนใหม่ การยึดครองดินแดน การติดต่อด้านการค้า ในช่วงนี้มีคณะบาทหลวงที่ทำพันธกิจเผยแพร่ติดตามกองทัพไปด้วย เช่น คณะเยซูอิท โซไซตี้ ออฟ จีซัส ประการที่สาม เพราะ มีการสร้างเครื่องมือสำหรับการทำพันธกิจ ที่เรียกกันว่า พรอพากันดา (Propaganda) เป็นเครื่องมือที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อให้คนมาเชื่อในศาสนา โดยอาจใช้รูปประโยคที่สวยงามเพื่อล้างสมองและใส่ความเชื่อใหม่จนคล้อยตามในที่สุด
          จึงสรุปได้ว่าการเผยแพร่พระกิตติคุณที่ขยายเขตแดนอย่างยิ่งใหญ่นี้ นับว่าเป็นความดีความชอบของชาวโรมันคาทอลิกที่ทำการอย่างเอาจริงเอาจังและอุทิศตัว แต่คริสตจักรต่างๆที่มีชีวิตในแถบอังกฤษ และดินแดนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอเมริกาเหนือก่อเกิดขึ้นโดยนิกายโปแตสแตนท์ 
          การประกาศเผยแพร่อย่างกว้างขวางเช่นนี้ หาได้สวยงามไร้ที่ติไปเสียทุกมุม หากเรามองในมุมของคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า หรือมองด้วยใจที่เป็นธรรม เราจะเห็นความไม่ชอบมาพากลของการประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณในยุคนี้ซึ่งข้าพเจ้านับว่าเป็นมุมมืดในความสำเร็จ เช่น ใช้การประกาศเชิงบังคับให้ผู้อื่นมาเชื่อพระเจ้า มีการใช้การเผยแพร่ศาสนาบังหน้าเพื่อเข้าไปยึดครองทรัพยากรของประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า ใช้เครื่องมือ ใช้เล่ห์เหลี่ยมการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนมาเป็นคริสเตียน จึงไม่แปลกที่เจ้าของประเทศที่หวาดระแวงอยู่แล้วจะขับไล่ กดดัน ปิดประตูใส่หน้าของมิชชันนารี อย่างกรณีของ ประเทศญี่ปุ่นที่ได้สั่งแบนมิชชันนารี เพราะมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยจากการล่าอาณานิคม (ค.ศ. 1627) หรือ กรณีของ จักรพรรด์คานซีที่สั่งห้ามการประกาศของมิชชันนารี (ค.ศ. 1675)

ยุคที่ 6 : ค.ศ. 1750-1900 ยุคแห่งมิชชันนารี



ข้อดี: ยุคแห่งมิชชันนารี
         การฟื้นฟู :  ใน ต้นศตวรรษที่ 18 ความเสื่อมถอยได้แพร่กระจายในคริสตจักรทั่วไป โดยเฉพาะสังคมอังกฤษที่เสื่อมทรามลงถึงขีดสุด ผู้คนยกย่องปัญญาของมนุษย์ ยกย่องเหตุและผล ที่ฝรั่งเศสถึงขนาดยกให้เหตุผลเป็นแม่พระและกล่าวว่าไม่มีพระเจ้า อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ การค้นพบสิ่งใหม่ๆ วิทยาการใหม่ๆ โดยเฉพาะการค้นพบของ ฟรานซิส เบคอน และ เดคาร์ท ว่าจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่หักล้างไม่ได้ อีกทั้งถ้าไม่สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงว่าไม่น่าเชื่อถือ การค้นพบนี้ได้ทำลายความเชื่อเรื่องการอัศจรรย์ต่างๆที่ปรากฏในพระคัมภีร์ ผู้คนในยุคนี้จึงมีความเชื่อเรื่องพระเจ้าแตกต่างกันไป บางกลุ่มเชื่อพระเจ้าองค์หนึ่งองค์ใดหรือหลายองค์ก็ได้ บางกลุ่มเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกจริงแต่พระองค์ไม่สามารถควบคุมโลกได้ บางกลุ่มไม่เชื่อเลยว่ามีพระเจ้า บางกลุ่มเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างโลกไว้ แต่ไม่ได้ควบคุมกฎใดใด และไม่ควบคุมโลกนี้อีกต่อไป 
          ความเชื่อเหล่านี้กำลังทำให้พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าที่ตายแล้ว ทำลายความศรัทธาในการดำรงพระชนม์อยู่ของพระเจ้า การเสื่อมถอยยังคงไม่จบสิ้น ยังบ่อนทำลายความเชื่อของคนในยุโรปต่อไป ในรูปแบบของลัทธิต่างๆ อาทิ ลัทธิ LATITUDINARIANSM กลุ่มนี้เชื่อแบบกว้างๆ ลัทธิ MODERATISM ลัทธินี้มีความเชื่อแบบไม่เคร่งครัด ลัทธิ UNITARIANISM พวกเขาเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และปฏิเสธตรีเอกานุภาพ การบ่อนทำลายนี้ได้กัดกร่อนทำลายคริสตจักรต่างๆ บางแห่งยุบ บางแห่งที่ยังอยู่ก็ซังกะตายไร้ชีวิตชีวา คริสตจักรกำลังตาย เหมือนดั่งว่าคริสตจักรจะไม่ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้ว ตามที่ David Powson(ขบวนการนิรันดร์) ได้กล่าวไว้ว่า “เจ้าอธิการคนหนึ่งกล่าวว่าสายเกินไปแล้วที่จะช่วยคริสตจักรซึ่งกำลังจะตาย ศาสนาคริสต์คงจะดับสูญไปในชีวิตของเขา”
  ในสภาพเช่นนี้คริสตจักรเหมือนพ่ายแพ้แล้ว นี่เป็นช่วงเวลาที่คริสตจักรมีแต่ข้อด้อยเต็มไปหมด ไม่รู้จะกลับมาได้อย่างไร จนในที่สุดเมื่อการฟื้นฟูจากพระวิญญาณบริสุทธิ์มา พระเจ้าทรงวางพระหัตถ์ลงบนบุรุษผู้มีนามว่า จอร์ท วิทฟิลด์ และทรงใช้ให้เขาเทศนาให้ผู้คนกลับใจ สารภาพบาป มาหาพระเจ้า หลายพันคน บุรุษอีกผู้หนึ่ง คือ จอห์น เวสเล่ย์ ได้รับการสัมผัสและรับการเปลี่ยนแปลง พระเจ้าทรงใช้เขาเทศนาทุกหนทุกแห่งจนผู้คนไม่สามารถยืนอยู่ได้ โดยไม่รู้สึกละอายต่อบาปที่ได้ทำลงไป ท่านยังเป็นผู้เขียนผลิตหนังสือ ใบปลิวต่างๆเพื่อใช้ในประกาศของเขาด้วย การเทศนานำผู้คนกลับมาสู่การกลับใจใหม่ ไฟแห่งการฟื้นฟูแผดเผาจนหัวใจที่เหือดแห้งรับการเติมเต็ม ผู้คนหันหลังให้ความบาปหันมาสู่การนมัสการเอาจริงเอาจังกับพระเจ้ามากขึ้นชีวิตชีวากลับมาสู่คริสตจักรแล้ว 
         ข้อดีของการฟื้นฟูได้เปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์อีกครั้ง ผู้คนถูกเปลี่ยนแปลง โลกเปลี่ยนไป จากการฟื้นฟูยังได้ก่อเกิดคุณมหันต์ต่อด้านต่างๆ อาทิ 
        1) เกิดบทเพลงแห่งการนมัสการขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งสามารถใช้ร้องในโอกาสและวาระต่างๆ 
        2) มีการเริ่มต้น สอนรวีวารศึกษาในคริสตจักร โดย ฮันนาห์ บอร์ 
        3) มีการพัฒนาสังคมทุกด้านเกิดขึ้น เช่น ตั้งบ้านพักเด็กกำพร้า การเลิกทาส การแจกยารักษาโรคฟรี มีสวัสดิการสังคมเพื่อช่วยเหลือการใช้แรงงานเด็กตามโรงงาน
        4) มีการก่อตั้งสมาคมพระคริสตธรรมทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ วรรณกรรม ใบปลิวเรื่องพระเจ้าเฟื่องฟู ถูกผลิตขึ้นอย่างมากมาย
        5) มีการส่งมิชชันนารีออกไปประกาศในประเทศต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง


 ข้อด้อย: ยุคแห่งมิชชันนารี
          การประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ : หลังจากการฟื้นฟูมีการก่อตั้งสมาคมมิชชันนารีขึ้นมาหลายกลุ่ม เป็นการส่งมิชชันนารีที่เอาจริงเอาจังที่สุด และเกิดผลอย่างกว้างขวางมาก ใน ค.ศ.1792 วิลเลียม แครี่ ได้ตั้งสมาคมมิชชันนารีคณะแบ๊บติสต์ โดยตัวท่านเองได้เป็นผู้ไปเริ่มงานที่ประเทศอินเดีย ต่อมายังมีพวก   แองกลิกัน เพรสไบทีเรียนรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน มิชชันนารีเด่นของกลุ่มนี้ คือ มอริสัน ที่เดินทางไปยังประเทศจีน เดวิด ลิฟวิ่งสโตน เดินทางไปยังแอฟริกา ใน ค.ศ.๑๘๖๕ มีการก่อตั้งองค์การ CHINA INLAND MISSION โดย ฮัดสัน เทเลอร์ ทำงานประกาศและเผยแพร่พระกิตติคุณในประเทศจีน ในช่วงนี้ยังเกิดมิชชันนารีคนสำคัญขึ้นอีกมากมาย เช่น เฮนรี่ มาติน ผู้ซึ่งไปประกาศที่อินเดียและเปอร์เซีย
          ผลจากการเผยแพร่พระกิตติคุณอย่างเอาจริงเอาจัง คริสต์ศาสนาได้แพร่ไปทั่วโลก ทางตะวันตกการประกาศพระคริสต์ได้ไปถึงแถบชายฝั่งทวีปอเมริกาและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก การเผยแพร่พระกิตติคุณได้หยั่งรากในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ตลอดทั้งได้วางรากฐานอย่างเข้มแข็งที่แอฟริกา ในแต่ละประเทศความเชื่อได้หยั่งรากลึกและมีผู้กลับใจเพิ่มมากขึ้น
          ถึงแม้ยุคนี้เป็นยุคแห่งมิชชันนารี มีการขยายขอบเขตการเผยแพร่พระกิตติคุณไปอย่างกว้างไกล กระนั้นก็ตามก็ยังมีข้อด้อยที่เราซึ่งเป็นธรรมิกชนในรุ่นหลังมองเห็นและได้เรียนรู้ ประการแรก การประกาศของมิชชันนารีมีนัยยะการเมืองซ่อนเร้นอยู่ภายใน เหมือนเข้าไปสอดแนมดูเพื่อเข้าไปยึดครองประเทศอื่นมาเป็นเมืองขึ้น ประการที่สอง พฤติกรรมบางอย่างของมิชชันนารีบางคนทำให้เจ้าของประเทศไม่ชอบ ทำตัวน่าสงสัยไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง หาผลประโยชน์ใส่ตนเองด้วยความโลภ อย่างเช่นกรณีของ หมอชีค ประการที่สาม มิชชันนารีมักเดินทางมากับกองทัพ ที่มีปืน มีดาบอยู่ในมือ ซึ่งต้องการล่าอาณานิคมยึดเอาประเทศต่างๆเป็นของตน ดังนั้น จึงไม่ได้รับความไว้วางใจ บ้างก็ถูกขัดขวางและต่อต้านไปเลยก็มี ความรู้สึกไม่ชอบนี้ยังส่งผลมาจนถึงสมัยนี้ คนไม่เชื่อพระเจ้ามักรู้สึกเสมอว่า การประกาศของมิชชันนารีนั้นมีนัยยะแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์และการยึดครองด้วย

ยุคที่ 7 : ค.ศ. 1900-2000 ยุคใหม่(ยุคแห่งการละทิ้งศาสนา)


ข้อดี: ยุคใหม่ (ยุคแห่งการละทิ้งศาสนา)
          การรวมตัวกัน :  ใน ค.ศ. 1900 วิลเลียม แครี่ ได้เริ่มต้นขบวนการเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคริสเตียนทั่วโลก โดยไม่มีกำแพงคณะ นิกาย มาเกี่ยวข้อง แต่ทุกคนคือพี่น้องในพระคริสต์เหมือนกัน วิลเลียม แครี่ ได้เสนอแนะนำให้คริสเตียนทั่วโลกมาประชุมกันที่แหลมกู๊ดโฮป ต่อมามีการรวมตัวกันเกิดขึ้นตามประเทศต่างๆ 
          ใน ค.ศ. 1910 คณะเผยแพร่ข่าวประเสริฐมาประชุมที่เมืองเอดินเบอเรอก์
          ใน ค.ศ. 1925 ที่ประเทศแคนาดาได้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มชุมชนเมโธดิสท์และพวกเพรสไบทีเรียน โดยตั้งชื่อกลุ่มว่า สหคริสตจักรแห่งแคนาดา (The United church Of Canada) 
          ใน ค.ศ. 1929 คริสตจักรเพรสไบทีเรียนในประเทศสก๊อตแลนด์ได้รวมตัวกัน
          ใน ค.ศ. 1933 คริสตจักรโปแตสแตนท์ในประเทศเยอรมันได้รวมตัวกัน
          ใน ค.ศ. 1938 มีการก่อตั้งสภาคริสตจักรโลก (World Concil Of Churches)
          ใน ค.ศ. 1947  คริสตจักรต่างๆในประเทศอินเดียรวมตัวกันเป็นคริสตจักรแห่งอินเดียใต้ (The Church Of South India)
          ใน ค.ศ. 1948 สภาคริสตจักรโลกซึ่งประกอบด้วย 147 คณะจาก 44 ประเทศ ได้มาประชุมร่วมกัน
          แม้การรวมตัวกันของคริสตจักรต่างๆทั่วโลกอาจถูก พวกคาทอลิก อีแวนเจลิคอล และคริสเตียนบางส่วนปฏิเสธที่จะเข้าร่วม แต่ผลดีจากการรวมตัวกันได้ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความรัก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในคริสตจักร อีกทั้งกระตุ้นให้คริสตจักรเข้าใกล้ชิดกันมากกว่าก่อน มีการรวมตัวกันจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติและไปสู่ระดับประเทศ
          ในข้อดีเรายังเห็นข้อด้อยที่ปิดบังไม่ได้ปรากฏให้เห็น คือ การรวมตัวกันยังไม่อาจประสานให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง ไม่อาจตีทำลายความเป็นคณะนิกายให้แตกได้ ทั้งเป็นการรวมตัวกันในรูปขององค์การไม่ใช่ในระดับของการรวมความคิดและจิตใจ ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราก็หนีไม่พ้นที่จะเห็น การถือดี ถือเด่น การถือคณะนิกายจนกว่าพระเยซูจะทรงเสด็จมา

ข้อด้อย : ยุคใหม่ (ยุคแห่งการละทิ้งศาสนา)
          สงครามโลก : ตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ถึง 1945 สงครามโลกครั้งที่สองได้อุบัติขึ้น ระหว่างฝ่ายพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย และฝ่ายอักษะ เยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น ดึงประเทศส่วนใหญ่ในโลกเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมีการระดมทหารกว่า 100 ล้านนาย ต่างฝ่ายต่างทุ่มเทขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อผลของชัยชนะ สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด นองเลือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีการประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 40 - 70 ล้านคน
          สงครามโลกในยุโรปได้สิ้นสุดลงเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรบุกเข้าเบอร์ลินในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 ส่วนทางเอเชียได้สิ้นสุดลงเมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ.1945 
          จากผลของสงครามโลกครั้งที่สอง ประการแรก ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN : United Nations) เพื่อดำเนินงานแทนองค์การสันนิบาตชาติ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพของโลกและให้กลุ่มสมาชิกร่วมมือช่วยเหลือกันสนับสนุนสันติภาพของโลก รวมทั้งการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ประการต่อมา เกิดสงครามเย็น (Cold War) ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้น ประเทศสหภาพโซเวียต (USSR) มีนโยบายขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่ ยุโรปตะวันออก และเยอรมนีตะวันออก ขณะที่สหรัฐต้องการสกัดกั้นการขยายตัวดังกล่าว และเผยแผ่การปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะดินแดนอาณานิคมที่ประกาศเอกราช เป็นประเทศใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนเกิดสภาวการณ์ที่เรียกว่า สงครามเย็น (Cold War) ประการที่สาม เกิดประเทศใหม่ๆ (ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกต่างประกาศเอกราชของตนเอง ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย และ แอฟริกา และบางประเทศถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เช่น เยอรมนี เกาหลี เวียดนาม ประการที่สี่ สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

         สงครามโลกครั้งที่สองได้ส่งผลกระทบต่อคริสตจักรอย่างรุนแรงหลายประการ ดังนี้ 
        1) คริสตจักรโปแตสแตนท์สูญเสียเขตแดนของตน โดยเฉพาะเมื่อมีการผนวก เอสโทเนีย ลัทเวีย และลิทัวเนียเข้ากับรัสเซียในปี 1940 ได้ทำให้คริสตจักรในดินแดนนี้มีขนาดลดน้อยลงไปอย่างมาก
        2) อาคารสิ่งก่อสร้างของคริสตจักรจำนวนมากมายถูกทำลายเสียหายยับเยิน แม้หลังสงครามโลกจบสิ้นแล้วก็ตาม การซ่อมแซมก็ดำเนินได้อย่างเชื่องช้ามาก เนื่องจากความทุกข์ยากลำบากในการหาวัสดุก่อสร้าง
        3) จำนวนคนที่มานมัสการในคริสตจักรลดน้อยลงไปมาก ศีลธรรมเสื่อมทราม ละเลยคำสอนของศาสนา และมีการดื่มสุรามากขึ้น
       4) เกิดการขาดแคลนผู้รับใช้พระเจ้าทั้งในแง่ของจำนวนและคุณภาพ ซึ่งสาเหตุหลักใหญ่มาจากสภาพเศรษฐกิจนั่นเอง
       5) การประกาศข่าวประเสริฐหยุดชะงัก ทั้งทีช่วงแรกของศตวรรษนี้คริสตจักรต่างมีความหวังว่าจะนำข่าวประเสริฐประกาศเผยแพร่ออกไปทั่วโลก
       6) ผู้คนหันมาฝักใฝ่และรักโลกมากขึ้น ดำเนินชีวิตโดยไม่คำนึงถึงศาสนา และอยู่อย่างปราศจากพระเจ้า
       7) ความเสื่อมทรามของสังคมตะวันตก ในอดีตคริสตจักรยุโรปในตะวันตกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ แต่หลังสงครามโลก เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ก่อกำเนิดขึ้น ผู้คนกลับเสื่อมถอยทั้งด้านจิตวิญญาณและศีลธรรม









สนใจหนังสือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพิ่มเพื่อนกับ SophiaMedia เพื่อสั่งซื้อหนังสือ

ไม่มีความคิดเห็น: